Saturday, 20 April 2024, 19:39:23
ยินดีต้อนรับ, Guest
หน้าหลัก » 2013 » August » 5 » โคลงสุภาษิตนฤทุมนาการ
16:34:56
โคลงสุภาษิตนฤทุมนาการ

โคลงสุภาษิตนฤทุมนาการ

กิจ ๑๐ ประการ ที่ผู้ประพฤติยังไม่เคยเสียใจ

ที่มา ความสำคัญ และ วัตถุประสงค์ในการประพันธ์

ที่มาและความสำคัญ           

บทประพันธ์นี้เป็นพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕)   ซึ่งทรงได้พระราชนิพนธ์แปลมาจากสุภาษิตภาษาอังกฤษ มาเป็นโคลงสี่สุภาพ เมื่อ พ.ศ.๒๔๒๓ โคลงสุภาษิตนฤทุมนาการ    เป็นคำประพันธ์ที่มีความสำคัญและคุณค่ายิ่ง   เนื้อความ สั่งสอนและเตือนใจคน โดยสอนให้ไตร่ตรองให้รอบคอบก่อนจะพูดหรือทำสิ่งใด เพราะ เมื่อตัดสินใจพูดหรือทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งลงไปแล้วเกิดผลเสีย     ทำให้อยากจะเรียกคำพูดหรือเก็บเอาการกระทำนั้นคืนมา แต่ก็สายไปเสียแล้ว ไม่อาจแก้ไขอะไรได้แล้ว     

 

 วัตถุประสงค์ในการประพันธ์

 

     โคลงสุภาษิตนฤทุมนาการ   มีจุดประสงค์ในการแต่งเพื่อต้องการจะอธิบายสุภาษิตที่เกี่ยวกับนามธรรมซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัวที่เกี่ยวข้องกับคนทุกคน ทุกฐานะ ทุกอาชีพได้นำไปเป็นเครื่องโน้มนำให้ประพฤติชอบอย่างผู้มีสติและมีความปลอดโปร่งในชีวิต โดยแนะนำ ทั้งทางด้านมโนกรรม (การคิด) วจีกรรม (การพูด) และกายกรรม (การกระทำ) ซึ่งครอบคลุม และเหมาะสมที่จะเป็นเกราะป้องกันผู้ประพฤติมิให้ต้องเสียใจ     เพราะสิ่งที่ตนคิด พูด และ กระทำ                                   

 

ฉันทลักษณ์และกวีโวหารบทประพันธ์นี้มีลักษณะเป็นโคลงสี่สุภาพ  

 ๑. บทหนึ่งมี ๔ บรรทัด

๒. วรรคหน้าของทุกบรรทัด มี ๕ พยางค์ วรรคหลังของบรรทัดที่ ๑ - ๓ มี ๒ พยางค์ 

บรรทัดที่ ๔ มี ๔ พยางค์ สามารถท่องจำนวนพยางค์ได้ดังนี้

ห้า -สอง (สร้อย ๒ พยางค์ มักลงท้ายด้วย นา แฮ เฮย เพื่อรับคำ ต่อคำ เชื่อมคำ )

ห้า- สอง

ห้า - สอง (สร้อย ๒ พยางค์ มักลงท้ายด้วย นา แฮ เฮย เพื่อรับคำ ต่อคำวเชื่อมคำ )

ห้า - สี่ (หากจะให้เกิดความไพเราะในการอ่านนิยมลงเสียงจัตวา)

๓. มีตำแหน่งสัมผัสตามเส้นโยง

๔. บังคับรูปวรรณยุกต์ เอก ๗ โท ๔ ตามตำแหน่งในแผนผัง

๕. กรณีที่ไม่สามารถหาพยางค์ที่มีรูปวรรณยุกต์ตามต้องการได้ให้ใช้คำเอกโทษคำโทโทษ

 

คำเอกคำโท หมายถึงพยางค์ที่บังคับด้วยรูปวรรณยุกต์เอก และรูปวรรณยุกต์โท กำกับ 

อยู่ในคำนั้น โดยมีลักษณะบังคับไว้ดังนี้

คำเอก ได้แก่ พยางค์ที่มีรูปวรรณยุกต์เอกบังคับ เช่น ล่า เก่า ก่อน น่า ว่าย ไม่ ฯลฯ 

และให้รวมถึงคำตายทั้งหมดไม่ว่าจะมีเสียงวรรณยุกต์ใดก็ตาม เช่น ปะ พบ รึ ขัด ชิด 

(ในโคลงและร่ายใช้ คำตาย แทนคำเอกได้)

คำตาย คือ

๑. คำที่ประสมสระเสียงสั้นแม่ ก กา (ไม่มีตัวสะกด) เช่น กะทิ สินะ ขรุขระ เละ เปรี๊ยะ เลอะ โป๊ะ ฯลฯ

๒. คำที่สะกดด้วยแม่ กก กบ กด เช่น เลข วัด สารท โจทย์ วิทย์ ศิษย์ มาก โชค ลาภ ฯลฯ

คำโท ได้แก่ พยางค์ที่มีรูปวรรณยุกต์โทบังคับ ไม่ว่าจะเป็นเสียงวรรณยุกต์ใดก็ตาม 

เช่น ข้า ล้ม เศร้า ค้าน

 

คำเอก คำโท ใช้ในการแต่งคำประพันธ์ประเภท "โคลง" และ "ร่าย"และถือว่าเป็นข้อ 

บังคับของฉันทลักษณ์ที่สำคัญมาก ถึงกับยอมให้เอาคำที่ไม่เคยใช้รูปเอก รูปโท แปลงมาใช้ เอก และ โท ได้ เช่น เล่น นำมาเขียนใช้เป็น เหล้น ได้ เรียกว่า "โทโทษ" 

ห้าม ข้อน นำมาเขียนเป็น ฮ่าม ค่อน เรียกว่า "เอกโทษ"

เอกโทษและโทโทษ นำมาใช้แก้ปัญหาได้ แต่ในปัจจุบันไม่นิยมใช้เอกโทษและโทโทษ

 

กวีโวหารที่ใช้ในโคลงสุภาษิตนฤทุมนาการ คือ เทศนาโวหาร เป็นคำสอน ซึ่งมีอยู่ ๒ แนวทางคือ

๑ . สอนให้ปฏิบัติในสิ่งที่ดี

๒ . สอนให้ละเว้นสิ่งที่ไม่ดี

 

  เนื้อหาสาระและคำศัพท์สำนวน โคลงสุภาษิตนฤทุมนาการ

นฤทุมนาการ แปลว่าไม่มีอาการเสียใจ

นฤ คือ ปราศจาก ทุมน = ทุ + มน ทุ แปลว่า ไม่ดี มน แปลว่า ใจ อาการ คือ สภาพกิริยา( นฤ + ทุ + มน + อาการ ) 

             โคลงสุภาษิตนฤทุมนาการมีบทนำ ๑ บท เนื้อเรื่อง ๑๐ บท  และบทสรุป ๑ บท   บทนำกล่าวว่า   ผู้รู้ได้ไตร่ตรองแล้วจึงกล่าวคำสอนเป็นแนวทางที่ควรประพฤติ ๑๐ ประการ     ชื่อว่า   ทศนฤทุมนาการ หมายถึง  กิจ ๑๐ ประการที่ผู้ประพฤติยังไม่เคยเสียใจ  ส่วนบทสรุปแนะนำว่า แนวทาง ๑๐ ประการนี้  ทุกคนควรรู้จักพิจารณา ถึงแม้จะประพฤติตามไม่ได้ครบถ้วน แต่ทำได้บ้างก็ยังดี

 

โคลงสุภาษิตนฤทุมนาการ

กิจ ๑๐ ประการที่ผู้ประพฤติยังไม่เคยเสียใจ               

        ๏ บัณฑิตวินิจแล้ว                   แถลงสาร สอนเอย

            ทศนฤทุมนาการ                                  ชื่อชี้

            เหตุผู้ประพฤติปาน                              ดังกล่าว นั้นนอ

            โทมนัสเพราะกิจนี้                              ห่อนได้เคยมี             

ผู้รู้กล่าวถึง ๑๐ ประการ     ที่ผู้ประพฤติยังไม่เคยเสียใจ เพราะเป็นความประพฤติดีในไตรทวาร  (กาย วาจา ใจ) อันจะยังให้เกิดผลดีแก่ผู้ประพฤติเองและต่อสังคมส่วนรวม อันได้แก่           

 ๑.  เพราะความดีทั่วไป        

             ๏ ทำดีไป่เลือกเว้น                   ผู้ใด ใดเฮย

            แต่ผูกไมตรีไป                                     รอบข้าง

            ทำคุณอุดหนุนใน                                การชอบ ธรรมนา

            ไร้ศัตรูปองมล้าง                                  กลับซ้อง สรรเสริญ

          การทำความดีนั้นไม่ควรเลือกกระทำกับผู้ใดผู้หนึ่ง ควรทำกับคนทั่วๆไป และทำความดีเพิ่มขึ้นด้วยความชอบธรรม จะได้ไม่มีศัตรูคิดร้าย จะมีก็แต่ผู้ยกย่องเชิดชู             

 

๒.   เพราะไม่พูดร้ายต่อใครเลย                        

                         ๏ เหินห่างโมหะร้อน               ริษยา

            สละส่อเสียดมารษา                             ใส่ร้าย

            คำหยาบจาบจ้วงอา-                            ฆาตขู่ เข็ญเฮย

            ไปหมิ่นนินทาบ้าย                               โทษให้ผู้ใด             

การอยู่ห่างไกลความหลงและความริษยาไม่พูดจากล่าวเท็จให้ร้ายผู้อื่น ไม่พูดอาฆาตใคร และไม่พูดนินทากล่าวโทษผู้ใด                        

 

๓.    เพราะถามฟังความก่อนตัดสิน                   

                     ๏ ยินคดีมีเรื่องน้อย                   ใหญ่ไฉน ก็ดี

            ยังบ่ลงเห็นไป                                      เด็ดด้วน

            ฟังตอบสอบคำไข                               คิดใคร่ ครวญนา

            ห่อนตัดสินห้วนห้วน                          เหตุด้วยเบาความ

การได้ยิน ได้ฟังเรื่องราวใดๆ มาไม่ควรจะเชื่อในทันที ต้องสอบสวนทวนความ คิดใคร่ครวญให้ดีก่อนที่จะตัดสินใจเชื่อ               

 

๔.    เพราะคิดเสียก่อนจึงพูด 

                           พาทีมีสติรั้ง                          รอคิด

                รอบคอบชอบแลผิด                             ก่อนพร้อง

             คำพูดพ่างลิขิต                                     เขียนร่าง  เรียงแฮ

                 ฟังเพราะเสนาะต้อง                            โสตทั้งห่างภัย   

ก่อนที่จะพูดสิ่งใดให้ตั้งสติให้รอบครอบก่อน เพราะการพูดดีก็เหมือนกับการเขียนที่มีการเรียบเรียงไว้แล้ว ทำให้เวลาฟังเกิดความไพเราะเสนาะหู และไม่เป็นภัยตัวผู้พูดด้วย        

 

 ๕.    เพราะอดพูดในเวลาโกรธ                        

               ๏ สามารถอาจห้ามงด                            วาจา  ตนเฮย

                ปางเมื่อยังโกรธา                                 ขุ่นแค้น

                หยุดคิดพิจารณา                                  แพ้ชนะ  ก่อนนา

                ชอบผิดคิดเห็นแม้น                              ไม่ยั้งเสียความ

การรู้จักหักห้ามตนเองไม่ให้พูดในขณะที่ยังโกรธอยู่โดยให้หยุดคิดพิจารณาว่าพูดแล้วจะเป็นฝ่ายแพ้หรือชนะ หรือพูดไปแล้วจะเป็นฝ่ายถูกหรือฝ่ายผิด หากไม่รู้จักยับยั้งแล้วละก็อาจทำให้เสียหายได้     

 

๖.     เพราะได้กรุณาต่อคนที่ถึงอับจน                                     

                   ๏ กรุณานรชาติผู้                     พ้องภัย พิบัติเฮย

            ช่วยรอดปลอดความกษัย                    สว่างร้อน

            ผลจักเพิ่มพูนใน                                  อนาคต กาลแฮ

            ชนจักชูชื่อช้อน                                   ป่างเบื้องปัจจุบัน

การมีความเมตตากรุณาและให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่ประสบภัย ทำให้เขารอดพ้นจากความทุกข์ยาก ผลที่ได้รับคือผู้คนจะพากันสรรเสริญทั้งในปัจจุบันและอนาคต            

 

  ๗.    เพราะขอโทษบรรดาที่ได้ผิด    

                         ๏ ใดกิจผิดพลาดแล้ว              ไป่ละ ลืมเลย

            หย่อนทิฐิมานะ                                    อ่อนน้อม

            ขอโทษเพื่อคารวะ                               วายบาด หมางแฮ

            ดีกว่าปดอ้อมค้อม                                คิดแก้โดยโกง

เมื่อกระทำการสิ่งใดผิดพลาดแล้ว ก็ควรลดความอวดดีลง และรู้จักกล่าวโทษเพื่อลดความบาดหมางลง ดีกว่าคิดหาทางแก้ด้วยความคดโกง                        

 

  ๘.    เพราะอดกลั้นต่อผู้อื่น     

                       ๏ ขันตีมีมากหมั้น                    สันดาน

            ใครเกะกะระราน                                 อดกลั้น

            ไป่ฉุนเฉียวเฉกพาล                             พาเดือด ร้อนพ่อ

            ผู้ประพฤติดั่งนั้น                                 จักได้ใจเย็น             

การมีความอดทนอดกลั้นต่อผู้ที่มาข่มเหงรังแก ไม่ฉุนเฉียวเหมือนคนพาล นี่แหละจักได้ชื่อว่าเป็นคนใจเย็น      

 

๙.     เพราะไม่ฟังคำคนพูดเพศนินทา

                           ๏ ไป่ฟังคนพูดฟุ้ง                    ฟั่นเฝือ

                 เท็จและจริงจานเจือ                             คละเคล้า

                คือมีดเที่ยวกรีดเถือ                              ท่านทั่ว  ไปนา

                ฟังจะพาพลอยเข้า                                พวกเพ้อรังควาน

การไม่ควรฟังคนที่ชอบพูดเพ้อเจ้อ มีข้อเท็จจริงบ้าง ไม่มีข้อเท็จจริงบ้าง  เพราะเปรียบเสมือนมีดที่กรีดหรือระรานคนทั่วไป      แล้วจะพาเราเข้าไปอยู่ในพวกพูดจาเหลวไหลไปด้วย

 

๑๐.เพราะไม่หลงเชื่อข่าวร้าย

                  ๏ อีกหนึ่งไป่เชื่อถ้อย    คำคน ลือแฮ                            

                   บอกเล่าข่าวเหตุผล                      เรื่องร้าย         

          สืบสอบประกอบจน                           แจ่มเท็จ  จริงนา

          ยังบ่ด่วนยักย้าย                              ตื่นเต้นก่อนกาล              

การไม่ควรด่วนหลงหรือตื่นเต้นกับข่าวร้ายที่มีผู้นำมาบอก ควรสืบสาวเรื่องราวที่แท้จริงก่อน                     

 

                       ๏ ข้อความตามกล่าวแก้          สิบประการ นี้นอ

            ควรแก่ความพิจารณ์                            ทั่วผู้

            แม้ละไป่ขาดปาน                                โคลงกล่าว ก็ดี

            ควรระงับดับสู้                                    สงบบ้างยังดี

 

   ที่กล่าวมาทั้ง ๑๐ ประการนี้ แม้จะกระทำตามได้ไม่หมดทุกข้อ กระทำได้เป็นบางข้อก็ยังดี  

 

คำศัพท์สำนวน    

 

ขันตี                      คือ ขันติ หมายถึง ความอดทน อดกลั้น

คดี                        เรื่องราวความกษัย     ความเสื่อม 

ต้องโสต                ถูกหู , น่าฟัง

ทศนฤทุมนาการ    ทศ = สิบ, นฤ = ไม่,

ทุมนาการ = ความโทมนัส  ความเสียใจ

หมายถึง กิจ ๑๐ ประการที่ผู้ประพฤติยังไม่เคยเสียใจ 

นรชาติ                     คน

บ้าย                        ป้าย

พร้อง                     พูด

เพศ                       ในที่นี้ หมายถึง การประพฤติปฏิบัติ

เพศนินทา                คือ ผู้ที่ชอบนินทา

มารษา                   คำปด คำเท็จ เป็นคำที่แผลงมาจากคำสันสกฤตว่า

มฺฤษา  คำบาลีใช้ มุสา

หมั้น                      เป็นรูปโทโทษของ มั่น      

 

ลักษณะดีเด่นของเรื่อง       โคลงสุภาษิตนฤทุมนาการนี้ มีลักษณะดีเด่น ดังนี้ คือ     

๑. ด้านการใช้ถ้อยคำภาษา จะเห็นได้ว่าภาษาในคำประพันธ์ทั้ง ๑๒ บทนี้ เป็นคำง่าย ๆความหมายชัดเจน ไม่มีคำศัพท์ที่ต้องแปล  และแต่ละบทกินความหมายลึกซึ้ง     

 

๒. ด้านการสั่งสอน เป็นคำประพันธ์ที่สอนให้ปฏิบัติในเรื่องที่ใกล้ตัว    และไม่ได้ยากเย็นในการปฏิบัติ เช่น การระวังคำพูด การรู้จักฟัง รู้จักอดกลั้น ถ้าหากปฏิบัติได้ก็เป็นที่แน่นอนว่าผู้ปฏิบัติจะไม่มีวันเสียใจ

 

    คติข้อคิดที่ได้

๑. มนุษย์ควรรู้จักอดทนอดกลั้นและไตร่ตรองให้รอบคอบก่อนพูดหรือทำสิ่งใด   ดังคำกล่าว     "พาทีมีสติรั้ง รอคิดในยามโกรธให้ระงับวาจา ใช้ปัญญาไตร่ตรอง 

๒. การพูดถึงสิ่งสำคัญควรงดการพูดคำหยาบ พูดส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่นเพราะผลร้ายอาจจะกลับมาสู่ตัวเองได้ 

๓. ไม่ควรฟังคำเท็จหรือคำนินทา ไม่หลงเชื่อสิ่งง่ายๆ ควรพิจารณาก่อนตัดสินเรื่องใด 

๔. เมื่อผจญกับคนที่มาเกะกะระรานให้อดกลั้น     อย่าโต้ตอบและควรทำดีผูกไมตรีกับทุกคนโดยไม่เลือกชั้นวรรณะ

 

           สรุปข้อคิดที่ได้จากโคลงสุภาษิตนฤทุมนาการกิจ ๑๐ ประการที่ผู้ประพฤติยังไม่เคยเสียใจ 

 

กายกรรม

๑.     ทำความดีทั่วไป

๒.ไม่ฟังคำพูดเพศนินทา

๔.ถามฟังความก่อนตัดสิน

๘.  ได้กรุณาต่อคนที่ถึงอับจน          

วจีกรรม

๓.    ไม่ได้พูดร้ายต่อใครเลย

๕.  งดพูดในเวลาโกรธ

๖.   ขอโทษบรรดาที่ได้ผิด

มโนกรรม

๗   คิดเสียก่อนจึงพูด

๙.   ความอดกลั้นต่อผู้อื่น

๑๐.  ไม่หลงเชื่อข่าวร้าย

 

แหล่งอ้างอิง:  http://chanpradit.ac.th/wanna/learn45.html

 http://www.thaigoodview.com/node/95072

http://www.learners.in.th/blogs/posts/232318

 

หมวด: ภาษาไทย | Views: 22129 | เพิ่มโดย: jatuporn | Tags: โคลงสุภาษิตนฤทุมนาการ | Rating: 0.0/0
คอมเม้นทั้งหมด: 0
ComForm">
avatar