
1. ความซื่อสัตย์สุจริต (Honesty and Integrity)
ความหมาย
ความซื่อสัตย์สุจริต คือ การยึดมั่นในความสัตย์จริงและในสิ่งที่ถูกต้องดีงาม มีความซื่อตรง และมีเจตนาที่บริสุทธิ์ ปฏิบัติต่อตนเองและผู้อื่นโดยชอบ ไม่คดโกง
การนำไปใช้
พูดความจริง
ไม่ลักขโมย
ทำตัวเป็นที่น่าเชื่อถือ ทำตามสัญญา
ตรงไปตรงมา
กล้าเปิดเผยความจริง
รู้จักแยกแยะประโยชน์ส่วนตัวส่วนรวม
แนวคิด
การดำเนินชีวิตในสังคมนั้น ความซื่อสัตย์สุจริตเป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็น ไม่ว่าจะซื่อสัตย์ต่อตนเองหรือผู้อื่น ดังนั้น การที่เราจะมีความซื่อสัตย์สุจริตนั้น เราจะต้องปลูกฝังและสร้างจิตสำนึกเกี่ยวกับความซื่อสัตย์สุจริตอย่างถูกต้อง และให้เห็นโทษของการไม่ซื่อสัตย์สุจริตว่าจะส่งผลต่อตนเองและสังคมอย่างไรบ้าง
2 การมีจิตสาธารณะ (Greater Good)
ความหมาย
การมีจิตสาธารณะ คือ การมีจิตสำนึกเพื่อส่วนรวม มีความตระหนักรู้และคำนึงถึงสังคมส่วนรวม มีความรับผิดชอบต่อตัวเองในการกระทำใดๆเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบเสียหายต่อส่วนรวม และพร้อมที่จะเสียสละประโยชน์ส่วนตนเพื่อรักษาผลประโยชน์ของส่วนรวม
การนำไปใช้
ร่วมดูแลสังคม
รับผิดชอบส่วนรวม
เสียสละเพื่อส่วนรวม
เอื้อเฟื้อ เมตตา มีน้ำใจ
ไม่เห็นแก่ตัว
แนวคิด
การอยู่ร่วมกันของสมาชิกในสังคมหนึ่งนั้น ต้องอาศัยความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความเข้าใจซึ่งกันและกัน รวมทั้งการที่สมาชิกในสังคมคิดและทำเพื่อส่วนรวม รู้จักการให้เพื่อสังคม ไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนเป็นใหญ่ และพร้อมที่จะเสียสละหรือช่วยปกป้องผลประโยชน์ของส่วนรวม
3 ความเป็นธรรมทางสังคม (Fairness and Justice)
ความหมาย
ความเป็นธรรมทางสังคม คือ การปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกัน และอย่างมีเหตุผล โดยไม่เลือกปฏิบัติต่อ เพศ เชื้อชาติ ชนชั้น สถานะทางเศรษฐกิจและสังคม
การนำไปใช้
นึกถึงใจเขาใจเรา
ไม่เอาเปรียบผู้อื่น
รับฟังผู้อื่น
เคารพให้เกียรติ์ผู้อื่น
กตัญูญูอย่างมีเหตุผล
คำนึงถึงความยุติธรรมโดยตลอด
แนวคิด
ทุกคนควรได้รับความเป็นธรรมอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะแตกต่างกันด้วยเชื้อชาติ ศาสนา ภูมิกำเนิด ฐานะ หรือการศึกษา รวมทั้งต้องไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่นด้วย ดังนั้นการให้ความเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น การไม่เอาเปรียบผู้อื่น และการเข้าใจสิทธิและหน้าที่ของตนเองจะช่วยให้รักษาความเป็นธรรมในสังคมได้มากขึ้น
4 กระทำอย่างรับผิดชอบ (Responsibility and Accountability)
ความหมาย
การกระทำอย่างรับผิดชอบ คือ การมีจิตสำนึกในบทบาทและหน้าที่ของตัวเองและปฏิบัติหน้าที่ให้ดีที่สุด เคารพกฎเกณฑ์กติกา พร้อมให้ตรวจสอบการกระทำได้เสมอ หากมีการกระทำผิดก็พร้อมที่จะยอมรับและแก้ไขในสิ่งที่ผิด
การนำไปใช้
ทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด
มีระเบียบวินัย
เคารพกติกา
รับผิดชอบในสิ่งที่ทำ กล้ายอมรับผิดและรับการลงโทษ
รู้จักสำนึกผิดและขอโทษ แก้ไขในสิ่งผิด
กล้าทำในสิ่งที่ถูกต้อง
แนวคิด
ในทุกสังคมประกอบด้วยสมาชิกหรือบุคคลที่แตกต่างหลากหลายตามบทบาทและหน้าที่ต่างๆที่เหมือนกันบ้างและต่างกันบ้าง ตั้งแต่เป็นสมาชิกของครอบครัว สมาชิกของโรงเรียน สมาชิกของที่ทำงาน และสมาชิกของสังคม ดังนั้น การอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข เข้าใจซึ่งกันและกัน ไม่ละเมิดผู้อื่น และพร้อมยอมรับในการกระทำของตนเองนั้น สมาชิกทุกคนจะต้องเข้าใจความรับผิดชอบในบทบาทและหน้าที่ของตนเองและบุคคลต่างๆ รวมทั้งการปฏิบัติหน้าที่ต่างๆอย่างมีความรับผิดชอบ พร้อมที่จะให้มีการตรวจสอบได้ มีความเคารพต่อกฎเกณฑ์กติกาอย่างมีวินัย
5 เป็นอยู่อย่างพอเพียง
ความหมาย
เป็นอยู่อย่างพอเพียง คือ การดำเนินชีวิตโดยยึดหลักความพอประมาณ ซื่อตรง ไม่ละโมภโลภมาก รู้จักยับยั้งชั่งใจ และต้องไม่เอาเปรียบหรือเบียดเบียนทั้งตัวเองและผู้อื่น
การนำไปใช้
รู้จักความเพียงพอ ความพอดี
มีความอดทนอดกลั้น
รู้จักบังคับตัวเอง
ไม่กลัวความยากลำบาก
ไม่ทำอะไรแบบสุดขั้วหรือสุดโต่ง
มีสติและเหตุผล
แนวคิด
การดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนั้น ถือว่าเป็นแบบอย่างที่ดี ที่ควรถือปฏิบัติ การรู้จักความพอดี พอประมาณในการใช้ชีวิต การรู้สึกพอใจในสิ่งที่ตนเองมีอยู่ การรู้ประหยัดและรู้คุณค่าสิ่งของเป็นเรื่องสำคัญในการสร้างนิสัยที่เป็นอยู่อย่างพอเพียง จะไม่ทำให้เกิดการดิ้นรนแบบเห็นแก่ตัวและขาดสติ ไม่เอาเปรียบผู้อื่นและสังคมในภาพรวมด้วย
|