หน้าหลัก »
2012 » May » 7 » ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และ บูรณาการอาเซียน
13:06:11
ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และ บูรณาการอาเซียน
ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และ บูรณาการอาเซียน โดย วันเพ็ญ หรูจิตตวิวัฒน์ Roadmap to an ASEAN Economic Community เป็นแผนบูรณาการทางเศรษฐกิจของอาเซียนไปสู่การเป็นประชาคมทางเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community หรือ AEC) ซึ่งการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2545 ที่กัมพูชา ได้ตกลงร่วมกันที่ จะมุ่งบรรลุผลสำเร็จตามแผนให้ได้ตามวิสัยทัศน์อาเซียน ค.ศ. 2020 หรือ พ.ศ. 2563 โดยนำ กลุ่มสหภาพยุโรป (EU) ซึ่งต่อมาเป็น ประชาคมยุโรป(EEC) มาเป็นกรณีศึกษา สำหรับ Roadmap for Integration of ASEAN หรือ RIA เป็นแผนการบูรณาการของอาเซียนที่เริ่มรณรงค์เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2544 ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่บรูไน AEC มุ่งการบูรณาการเป็นตลาดเดียว (single market) และพื้นฐานทางการผลิตเสรีด้านการเคลื่อนย้ายสินค้า การค้าบริการ การลงทุน เงินทุน และแรงงานมีฝีมือ ขณะที่ RIA เป็นความพยายามบรรลุความร่วมมือโดยรวมมากขึ้น และลดช่องว่างความแตกต่างระหว่างกันในทุกด้านของประเทศสมาชิก ซึ่งก่อนหน้า RIA ก็มีความริเริ่มเพื่อการบูรณาการของอาเซียน (Initiative for ASEAN Integration หรือ IAI) จากการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการที่สิงคโปร์ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2543 ที่มุ่งการพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐาน และทรัพยากรมนุษย์ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร การพัฒนาศักยภาพทางการผลิต เพื่อการบูรณาการทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาชาติของประเทศสมาชิก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศสมาชิกใหม่ของอาเซียนที่ประกอบด้วยกัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม หรือ (CLMV) ด้วยการจัดอบรมในด้านต่าง ๆ เช่น เทคโนโลยีสารสนเทศ การพัฒนาทางการค้า การส่งเสริมการ ส่งออก การพัฒนาความมั่นคงของมนุษย์ ธุรกิจการเกษตรและอาหาร การท่องเที่ยว อีกทั้งการให้ทุนการศึกษาและการแลกเปลี่ยนนักศึกษาและเยาวชน เป็นต้น AEC เป็นหนึ่งในสามขั้วของการรวมเป็นประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) โดยอีกสองขั้ว คือ ประชาคมความมั่นคงแห่งอาเซียน (ASEAN Security Community) และประชาคม วัฒนธรรมทางสังคมแห่งอาเซียน (AEAN Socio-cultural Community) ขณะที่ RIA ก็มีสามขั้ว เช่นกัน ประกอบด้วย การพัฒนาการเพื่อการลดช่องว่างระหว่างกัน ความร่วมมือทางเศรษฐกิจเชิงลึก และการปรับปรุงบูรณาการทางเศรษฐกิจ โดยขั้วที่สองเป็นความร่วมมือในด้านต่าง ๆ เช่น พลังงาน ท่องเที่ยว ขนส่งและโทรคมนาคม เป็นต้น สำหรับขั้วที่สามเป็นการเร่งดำเนินการตามกรอบความร่วมมือด้านเศรษฐกิจของอาเซียน เช่น เขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area หรือ AFTA) เขตการลงทุนอาเซียน (ASEAN Investment Area หรือ AIA) กรอบความตกลงอาเซียนว่าด้วยการค้าบริการ (ASEAN Framework Agreement on Services หรือ AFAS) ความร่วมมือด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและอิเล็กทรอนิกส์ของอาเซียน (e-ASEAN) โครงการความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมของอาเซียน (ASEAN Industrial Cooperation Scheme หรือ AICO) เป็นต้น Roadmap to an AEC มีวิสัยทัศน์ คือ ความตั้งใจบรรลุ AEC ภายในปี 2563 โดยมีภารกิจหรือพันธกิจที่ต้องดำเนินการมากมาย ได้แก่
การเคลื่อนย้ายเสรี (free movement) ของสินค้า การค้า การบริการ การลงทุน และเงินทุน รวมถึงการบรรลุผลสำเร็จของเขตการค้าเสรีที่มีอัตราอากรขาเข้าเป็นศูนย์ และขจัดอุปสรรคข้อกีดขวางทางการค้าที่มิ่ใช่ภาษี การพัฒนารูปแบบการผลิตในภูมิภาค ที่ดึงดูดการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ การเคลื่อนย้ายเสรีของแรงงานมีฝีมือ และผู้เชี่ยวชาญ การเคลื่อนย้ายเสรีของนักท่องเที่ยวจากทุกประเทศสมาชิกอาเซียน การประสานและเชื่อมโยงเครือข่ายกระบวนการศุลกากร และการลดขั้นตอนกระบวนการด้านศุลกากร การประสานและเชื่อมโยงมาตรฐาน ไปสู่มาตรฐานระหว่างประเทศ การพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐานเชิงกฎหมายและเพื่อเอื้อและอำนวยประโยชน์ในการบูรณาการทางเศรษฐกิจของอาเซียน ทั้ง 7 ภารกิจเป็นการนำ AEC เข้าสู่การเตรียมความพร้อมสู่เขตการค้าเสรีที่ จะผนวกความร่วมมือกับประเทศอื่นนอกกลุ่มอาเซียน ต่อไป อย่างไรก็ดี Roadmap to an AEC ยังขาดเป้าหมาย หรือกำหนดเส้นตาย (deadline) ที่ชัดเจนในการบรรลุวิสัยทัศน์ ซึ่งผู้เขียนขอนำเสนอข้อคิดเห็นให้อาเซียนแยกเป้าหมายเป็น 4 ระยะ ประกอบด้วย - ระยะสั้น บรรลุภายในปี 2550 - ระยะปานกลาง บรรลุภายในปี 2555 - ระยะยาว บรรลุภายในปี 2560 - ระยะยาวพิเศษ บรรลุภายในปี 2563 ทั้งนี้เพื่อการบูรณาการเป็น AEC และ RIA ควรที่จะเพิ่มการบูรณาการในเรื่องดังต่อไปนี้ด้วย ได้แก่ การเชื่อมโยงระบบเครือข่ายอิเล็กทรอนิก ส์ในทุกประเภทของการค้า การค้าบริการ การขนส่งโทรคมนาคม การสาธารณสุข การท่องเที่ยว และด้านอื่น ๆ ยกเว้นการตรวจลงตราการตรวจคนเข้าเมือง ด้วยระบบการเชื่อมโยงข้อมูลเครือข่าย การใช้เงินสกุลเดียวกัน ทำนองเดียวกับเงินยูโร มีกองกำลังพันธมิตรทางการทหาร ทำนองเดียวกับกองกำลังพันธมิตรป้องกันแอตแลน-ติกเหนือ (NATO) และ การจัดตั้งศาลอาเซียน สำหรับในระยะสั้นคาดว่าโครงการที่น่าจะบรรลุได้ คือ AFTA AIA และ AICO ระยะกลาง ได้แก่ AFAS ภารกิจ ข้อ 1 - 4 ส่วน ข้อ 5 - 9 คาดว่าจะแล้วเสร็จในระยะยาว ส่วน โครงการที่ต้องการใช้เวลายาวพิเศษ และต้องใช้ความพยายามสูงอย่างยิ่ง ได้แก่ ข้อ 10 - 12 สำหรับ กลยุทธ์ ที่จะต้องนำมาใช้เพื่อไปสู่เป้าหมายนั้น ควรมุ่งไปที่ การลดช่องว่างของความแตกต่างระหว่างกลุ่มสมาชิกเดิม (ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโด- นีเซีย ฟิลิปปินส์ และบรูไน) และสมาชิกใหม่ (CLMV) ซึ่งอาเซียนก็ดำเนินการอยู่แล้วตาม IAI
แต่งตั้งคณะกรรมาธิการอาเซียนที่เกี่ยวข้องกับการบูรณาการด้านความยากจน โดยประกอบด้วยรัฐมนตรีจากประเทศสมาชิก (a Ministerial level ASEAN Committee on the Poverty Implications of Integration (ACPII) จัดตั้งองค์กรหลักเพื่อดำเนินการกำกับ จัดการ ปฏิบัติงาน และประสานงานในเรื่องของ AEC และ RIA โดยรวม ก่อตั้งองค์กรกลาง หรือธนาคารกลางของอาเซียน เพื่อดำเนินการกำกับ จัดการ ประกอบการ และประสานงานในเรื่องของเงินสกุลเดียว ก่อตั้งกองกำลังพันธมิตรอาเซียน ศาลอาเซียน และองค์กรสนับสนุนที่เกี่ยวข้อง ในส่วนของ แผนปฏิบัติการ ทุกประเทศสมาชิกสามารถดำเนินการในทุกโครงการพร้อมกัน เนื่องจากต้องใช้เวลาในการดำเนินการมาก-น้อยต่างกัน ได้แก่
การฝึกอบรม ฝึกฝน ให้ความช่วยเหลือทางเทคนิควิชาการ เพื่อการพัฒนาความรู้ความสามารถแก่สมาชิกในกลุ่ม CLMV การพัฒนาปรับปรุงคุณภาพ และศักยภาพของทรัพยากรบุคคลด้วยการให้การศึกษา และฝึกฝนสร้างความชำนาญ โดยมุ่งเน้นที่ภาคอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมในท้องถิ่นนั้น ๆ วัดระดับความแตกต่างของระดับรายได้และมาตรฐานการครองชีพของประชากรในประเทศสมาชิก ซึ่งอาจจำเป็นต้องมี ACPII กำกับดูแล และปฏิบัติงาน เพื่อวางแผนการดำเนินการในการพัฒนาแก้ไขให้ตรงเป้าหมายต่อไป เร่งผลักดันความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ที่มีอยู่เดิม ได้แก่ AFTA AIA AICO หรือความร่วมมือใหม่ด้านอื่น ๆ ได้แก่ AFAS ให้บรรลุผลเร็วยิ่งขึ้น โดยการพิจารณาถึงปัญหา ข้อติดขัดต่าง ๆ ที่ได้ดำเนินการมาแล้ว และที่จะดำเนินการต่อไป รวมถึงอุปสรรคปัญหาภายในที่ต้องเร่งแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นปัญหาข้อจำกัดทางกฎหมายภายในที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎหมายการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว กฎหมายส่งเสริมการลงทุน กฎหมายสรรพากร-ศุลกากร กฎหมายส่งเสริมอุตสาหกรรม เป็นต้น ซึ่งต้องใช้เวลายาวนาน เร่งพัฒนาปรับปรุงสิ่งที่เป็นอุปสรรคต่อการบรรลุความร่วมมือในแต่ละเรื่อง ได้แก่ กรณี e-ASEAN จำเป็นต้องก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานเพื่อการเชื่อมโยงเครือข่ายทางอิเล็กทรอนิกส์ ระบบไฟฟ้าที่เข้าถึงทั่วประเทศ มีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่แพร่หลาย ประชากรสามารถซื้อหาได้ และมาตรฐานค่าครองชีพ การเปิดเสรีการลงทุน การค้า การบริการ จำเป็นต้องสร้างความแข็งแกร่งภายในประเทศ โดยพัฒนามาตรฐานและศักยภาพภายในให้สูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา การฝึกฝน อบรม การไปดูงานในต่างประเทศที่มีประสิทธิภาพ การนำระบบการเชื่อมโยงด้วยอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในทุกระบบงาน เพื่อลดงาน ย่นระยะเวลาที่ใช้ เพิ่มศักยภาพและประสิทธิภาพของบุคลากร เพื่อรองรับ e-ASEAN ที่จะมีการเชื่อมโยงเครือข่ายกันทั้งอาเซียน สร้างระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานเพื่อการเชื่อมโยงเครือข่ายภายในประเทศและระหว่าง อาเซียน รวมถึงระบบการขนส่งโทรคมนาคมทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ เช่น ท่ารถ ท่าเรือ ท่าอากาศยาน เคเบิล และระบบการเชื่อมโยงไร้สายอื่น ๆ เป็นต้น สร้างระเบียบวินัยประชาชนในชาติ มีการอบรมสั่งสอนที่ลงไปถึงต้นตอตั้งแต่วัยเยาว์ สร้างจิตสำนึกในความร่วมมือร่วมใจกันพัฒนาชาติ เคลื่อนย้ายเสรีของแรงงานมีฝีมือ และทุกแผนงานที่มีร่วมกันในอาเซียน อนึ่ง กรณียกเว้นการตรวจลงตราการตรวจคนเข้าเมืองด้วยระบบการเชื่อมโยงข้อมูลเครือข่าย ปัจจุบันเริ่มมีความร่วมมือในเรื่องการไม่ต้องใช้วีซ่าเข้าประเทศกับหลายประเทศแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วีซ่าราชการในกลุ่มอาเซียนบางประเทศ แต่ยังไม่มีการเชื่อมโยงข้อมูลเครือข่ายที่เป็นระบบเดียวกัน ความร่วมมือนี้จะมีพัฒนาได้มากยิ่งขึ้น หากมีระบบการเชื่อมโยงข้อมูลเครือข่ายที่จะช่วยให้การควบคุมระหว่างอาเซียนมีประสิทธิผล ซึ่งการเชื่อมโยงนี้เกี่ยวเนื่องกับสาธารณูปโภคพื้นฐานภายในประเทศสมาชิกอาเซียนที่ต้องมีการพัฒนาเสียก่อน ขณะเดียวกัน พัฒนาการของโครงการนี้ก็ขึ้นอยู่กับปัญหาภายในของแต่ละประเทศสมาชิกด้วย ไทยมีปัญหาเรื่องคนต่างด้าวลักลอบเข้าเมืองจำนวนมาก หรือคนไทยที่ชอบข้ามไปเล่น การพนันในประเทศเพื่อนบ้าน การลักลอบขนส่งยาเสพติดจากประเทศเพื่อนบ้าน ปัญหาผู้ก่อการร้ายข้ามชาติ ฯลฯ ซึ่งระบบการเชื่อมโยงเครือข่ายจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยลดปัญหาเหล่านี้ ส่วน การรวมสกุลเงินจะเกิดขึ้นได้หากแผนปฏิบัติการข้างต้นประสบผลสำเร็จ ช่องว่างทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศสมาชิกเดิมและใหม่จะไม่มี หรือเหลือน้อยที่ กรณีศาลอาเซียนนั้น น่าจะได้เข้ามาดำเนินการในเรื่องของการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมถึง ข้อขัดแย้งระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งอาจดูตัวอย่างจากศาลของ EEC ที่ได้มีการจัดตั้งแล้ว อย่างไรก็ดีอาจเป็นเรื่องยากที่จะมีการจัดตั้งขึ้น เนื่องจากทุกประเทศยังคงหวงแหนอธิปไตยทางการศาลเป็นอย่างยิ่ง สำหรับกรณี กองกำลังพันธมิตรอาเซียนก็อาจไม่เกิดเช่นกัน หากเป็นองค์กรมีอำนาจหน้าที่ช่วยเหลือประเทศสมาชิกที่ถูกรุกรานอย่าง NATO และมีอำนาจหน้าที่ครอบคลุมถึงการรักษาความสงบสุขภายในภูมิภาคอาเซียน เนื่องจากแต่ละประเทศ อาทิ พม่า มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปินส์ ต่างมีความขัดแย้งภายใน ซึ่งประเทศเหล่านี้คงไม่ต้องการให้ ผู้ใด หรือกองกำลังใดเข้ามาแทรกแซง เมื่อกองกำลังพันธมิตรอาเซียนไม่สามารถเข้าไปดำเนินการใดข้างต้น ก็ไม่มีประโยชน์ที่จะจัดตั้ง เพราะเป็นเสือกระดาษโดยสิ้นเชิง อย่างไรก็ตาม สูตร 2 + X ของอาเซียน กรณีประเทศสมาชิกอาเซียนตั้งแต่สองประเทศมีความพร้อมในเรื่องใดก่อน ก็สามารถร่วมมือกันได้ก่อน เป็นสูตรที่ทำให้ความร่วมมือมีความคืบหน้า ชัดเจน ช่วยเร่งให้ความร่วมมือโดยรวมบรรลุผลได้เร็วยิ่งขึ้น รวมถึงสูตร ASEAN plus ที่ขยายความร่วมมือออกนอกกลุ่มอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในก้าวแรกที่ออกไปสู่เพื่อนบ้านอย่างจีน ญี่ปุ่น เกาหลี และที่จะขยายต่อไปถึงออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ก็จะยิ่งสนับสนุนส่งเสริมให้การจัดตั้งประชาคมทางเศรษฐกิจของอาเซียน และการบูรณาการอาเซียนประสบผลได้เร็วยิ่งขึ้น ปัจจัยสำคัญที่สุดต่อความสำเร็จตามแผนการบูรณาการทางเศรษฐกิจของอาเซียน ไปสู่การเป็นประชาคมทางเศรษฐกิจอาเซียน และแผนบูรณาการอาเซียน ไม่ใช่อยู่ที่แผนปฏิบัติการที่เลิศหรู วิสัยทัศน์ที่สวยงาม แต่เป็นความตั้งใจมุ่งมั่นของประเทศสมาชิกอาเซียนที่พร้อมจะก้าวไปสู่เป้าหมาย และวิสัยทัศน์ร่วมกันอย่างแท้จริง
หมวด: อาเซียน (ASEAN) |
Views: 1993 |
เพิ่มโดย: jatuporn
| Tags: ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และ บูรณาการ
| Rating: 0.0 /0