Thursday, 21 November 2024, 19:56:14
ยินดีต้อนรับ, Guest
หน้าหลัก » 2012 » May » 7 » ประวัติความเป็นมาของอาเซียน
12:44:38
ประวัติความเป็นมาของอาเซียน

สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

(Association of Southeast Asian Nations)

-------------------------------------------------------

การจัดตั้ง

            สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือ อาเซียน ได้รับการจัดตั้งขึ้นในวันที่ 8 สิงหาคม 2510 ณ วังสราญรมย์ ในกระทรวงการต่างประเทศ กรุงเทพมหานคร โดยมีประเทศสมาชิกเริ่มแรก 5 ประเทศ คือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย ต่อมา บรูไน ดารุสซาลามได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกในวันที่ 8 มกราคม 2527 เวียดนามได้เข้าร่วมเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2538 ลาวและพม่าเข้าร่วมเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2540 และกัมพูชาเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2542 

           ภูมิภาคอาเซียนนั้น ประกอบด้วยประชากรประมาณ 567 ล้านคน มีพื้นที่โดยรวม 4.5 ล้านตารางกิโลเมตร ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติประมาณ 1,100 พันล้านดอลลาร์ และรายได้โดยรวมจากการค้าประมาณ 1,400 พันล้านดอลลาร์ (สถิติในปี 2550)


วัตถุประสงค์

          ปฏิญญาอาเซียน (The ASEAN Declaration) ได้ระบุว่า เป้าหมายและจุดประสงค์ของอาเซียน คือ 1) เร่งรัดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ความก้าวหน้าทางสังคมและการพัฒนาวัฒนธรรม ในภูมิภาค และ 2) ส่งเสริมสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค โดยการเคารพหลักความยุติธรรมและ หลักนิติธรรมในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในภูมิภาค ตลอดจนยึดมั่นในหลักการแห่ง กฎบัตรสหประชาชาติ

          ในโอกาสครบรอบ 30 ปีของการก่อตั้งอาเซียน ในปี 2540 (ค.ศ.1997) ผู้นำของประเทศสมาชิกอาเซียนได้รับรอง "วิสัยทัศน์อาเซียน 2020” (ASEAN Vision 2020) โดยเห็นพ้องกันในวิสัยทัศน์ร่วมของอาเซียนที่จะเป็นวงสมานฉันท์ในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ ต้องการมีปฏิสัมพันธ์กับภายนอก การใช้ชีวิตในสภาพที่มีสันติภาพ เสถียรภาพ และความเจริญรุ่งเรือง ผูกมัดกันเป็นหุ้นส่วนในการพัฒนา ที่มีพลวัตและในประชาคมที่มีความเอื้ออาทรระหว่างกัน

           ปี 2546 ผู้นำอาเซียนได้เห็นพ้องกันที่จะจัดตั้งประชาคมอาเซียนที่ประกอบด้วย 3 เสาหลัก อันได้แก่ ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Political-Security Community–ASC) ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community-AEC) และประชาคมสังคม-วัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community-ASCC) ภายในปี 2563 ต่อมา ในการประชุม สุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 12 ที่เมืองเซบู ฟิลิปปินส์ ผู้นำประเทศอาเซียนตกลงที่จะเร่งรัดกระบวนการสร้างประชาคมอาเซียนให้แล้วเสร็จภายในปี 2558 

หลักการพื้นฐานของความร่วมมือ

               ประเทศสมาชิกอาเซียนได้ยอมรับในการปฏิบัติตามหลักการพื้นฐานในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างกัน อันปรากฏอยู่ในสนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Treaty of Amity and Cooperation in Southeast Asia หรือ TAC) ซึ่งประกอบด้วย

1.การเคารพซึ่งกันและกันในเอกราช อธิปไตย ความเท่าเทียม บูรณาการแห่งดินแดนและเอกลักษณ์ประจำชาติของทุกชาติ

2.สิทธิของทุกรัฐในการดำรงอยู่โดยปราศจากจากการแทรกแซง การโค่นล้มอธิปไตยหรือการบีบบังคับจากภายนอก

3.หลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในซึ่งกันและกัน

4.ระงับความแตกต่างหรือข้อพิพาทโดยสันติวิธี

5.การไม่ใช้การขู่บังคับ หรือการใช้กำลัง และ

6.ความร่วมมืออย่างมีประสิทธิภาพระหว่างประเทศสมาชิก

โครงสร้างองค์การของอาเซียน

             องค์กรสูงสุดของอาเซียนคือ ที่ประชุมสุดยอดอาเซียนหรือที่ประชุมของประมุขหรือหัวหน้ารัฐบาลของประเทศสมาชิกอาเซียน (ASEAN Summit) โดยจะมีที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศ (ASEAN Ministerial Meeting) และที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Ministers’ Meeting) เป็นองค์กรระดับรอง และอาจมีที่ประชุมระดับรัฐมนตรีด้านอื่นๆ ด้วย การประชุมระดับผู้นำและรัฐมนตรีถือเป็นองค์กรระดับนโยบายชั้นสูง รองลงมาจะเป็นที่ประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส หรือระดับปลัดกระทรวง (Senior Officials’ Meeting -SOM) ทำหน้าที่กำหนดนโยบาย และเร่งรัดการดำเนินการตามนโยบายของที่ประชุมระดับผู้นำและระดับรัฐมนตรี ส่วนที่ประชุมคณะกรรมการประจำอาเซียน (ASEAN Standing Committee -ASC) ซึ่งประกอบด้วยอธิบดีกรมอาเซียนของประเทศสมาชิก จะทำหน้าที่กำหนดแนวทาง และเร่งรัดการดำเนินการตามมติที่ประชุมสุดยอดอาเซียนและที่ประชุมระดับรัฐมนตรี รวมทั้งให้ความเห็นชอบโครงการความร่วมมือด้านต่างๆ ภายในอาเซียนและระหว่างอาเซียน กับประเทศคู่เจรจา ตลอดจนรับทราบผลการดำเนินงานของสำนักเลขาธิการอาเซียน ทั้งนี้ อาเซียนจะตัดสินใจในเรื่องใดๆ โดยใช้ฉันทามติ 

              นอกจากนี้ ยังมีคณะกรรมการอาเซียนในประเทศที่สาม (ASEAN Committee in Third Countries) ซึ่งประกอบด้วยเอกอัครราชทูตของประเทศสมาชิกอาเซียนในประเทศคู่เจรจาทั้ง 10 ประเทศ และในประเทศอื่นๆ ที่อาเซียนเห็นสมควรให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการอาเซียนในประเทศที่สามจะทำหน้าที่ให้ข้อมูลและวิเคราะห์ท่าทีของประเทศที่คณะกรรมการอาเซียนตั้งอยู่ 

 สำนักเลขาธิการอาเซียนซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ทำหน้าที่เป็นศูนย์ประสานงานในการดำเนินความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิก มีเลขาธิการอาเซียนเป็นหัวหน้าผู้บริหารสำนักงาน เลขาธิการอาเซียนจะได้รับการเสนอชื่อและแต่งตั้งโดยประเทศสมาชิก (ตามลำดับตัวอักษรภาษาอังกฤษของชื่อประเทศสมาชิก) และมีรองเลขาธิการอาเซียน 2 คน มาจากประเทศสมาชิกอาเซียนเรียงลำดับตามตัวอักษรชื่อภาษาอังกฤษของประเทศ และมีหน่วยงานเฉพาะด้านที่ดำเนินความร่วมมือ ในด้านต่างๆ ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม

              ในขณะที่กรมอาเซียนของประเทศสมาชิกจะทำหน้าที่เป็นสำนักเลขาธิการแห่งชาติของแต่ละประเทศ ประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ของประเทศตนในการดำเนินกิจกรรมความร่วมมือในสาขาต่างๆ นโยบายหลักในการดำเนินงานของอาเซียนเป็นผลมาจากการประชุมหารือในระดับหัวหน้ารัฐบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีเศรษฐกิจ และรัฐมนตรีในสาขาความร่วมมือต่างๆ ของประเทศสมาชิก

              อย่างไรก็ดี โครงสร้างของอาเซียน รวมทั้งสำนักเลขาธิการอาเซียนตามที่กล่าวมาข้าวต้นกำลังจะถูกปรับเปลี่ยนตามกฎบัตรอาเซียนที่คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ต้นปี 2552

ความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคง

            อาเซียนเห็นว่า สันติภาพและเสถียรภาพทางการเมืองเป็นพื้นฐานสำคัญต่อการพัฒนา ในด้านต่างๆ จึงมุ่งเน้นการส่งเสริมให้มีความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน (confidence building) ตลอดจน การสร้างเสถียรภาพ (stability) และสันติภาพ (peace) ในภูมิภาค 

            ตลอดระยะเวลา 41 ปีที่ผ่านมา อาเซียนสามารถระงับข้อพิพาทไม่ให้ขยายตัวเป็นความตึงเครียดโดยการเจรจาหารือทางการเมืองและการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน ผู้นำของประเทศสมาชิกอาเซียนได้เห็นพ้องในการจัดตั้งประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Political-Security Community–APSC) อันมีจุดมุ่งหมายในการสร้างความมั่นใจว่าประเทศในภูมิภาคจะอยู่ร่วมกันและร่วมกับประเทศอื่นๆ ในโลกด้วยความสงบสุขในสภาพแวดล้อมที่เป็นประชาธิปไตยและมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียว

            ประเทศสมาชิกของประชาคมได้ให้คำมั่นสัญญาที่จะพึ่งพากระบวนการแก้ปัญหาด้วยสันติวิธี และคำนึงว่าความมั่นคงของประเทศสมาชิกจะเกี่ยวโยงกันตามที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ วิสัยทัศน์และวัตถุประสงค์ร่วมกัน อันประกอบด้วย การพัฒนาด้านการเมือง การกำหนดและยึดถือบรรทัดฐานร่วมกัน การป้องกันความขัดแย้ง การการแก้ไขความขัดแย้ง การสร้างสันติภาพหลังความขัดแย้ง โดยอยู่บนพื้นฐานอันมั่นคงของกระบวนการ หลักการ ความตกลง และโครงสร้างของอาเซียนที่มีวิวัฒนาการมา ช้านาน ซึ่งปรากฏใน เอกสารสำคัญทางการเมืองดังนี้

 ปฏิญญาอาเซียน (ASEAN Declaration) ณ กรุงเทพฯ วันที่ 8 สิงหาคม 2510

          ปฏิญญาว่าด้วยเขตสันติภาพ อิสรภาพ และการวางตนเป็นกลาง (Zone of Peace, Freedom and Neutrality Declaration) ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ วันที่ 27 พฤศจิกายน 2514

           ปฏิญญาว่าด้วยความร่วมมืออาเซียน (Declaration of ASEAN Concord) ณ บาหลี วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2519

           สนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Treaty of Amity and Cooperation in Southeast Asia ) ณ บาหลี วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2519

           ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยทะเลจีนใต้ (ASEAN Declaration on the South China Sea) ณ กรุงมะนิลา วันที่ 22 กรกฎาคม 2535

สนธิสัญญาเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Treaty on the Southeast Asia Nuclear-Free Zone : SEAN-FZ) ณ กรุงเทพฯ วันที่ 15 ธันวาคม 2540

วิสัยทัศน์อาเซียน 2020 (ASEAN Vision 2020) ณ กัวลาลัมเปอร์ วันที่ 15 ธันวาคม 2540

ปฏิญญาว่าด้วยความร่วมมืออาเซียน ครั้งที่ 2 (Declaration of ASEAN Concord II) ณ บาหลี วันที่ 7 ตุลาคม 2546  

            ปัจจุบันอาเซียนกำลังเจรจาจัดทำร่างแผนงานเพื่อจัดตั้ง APSC เพื่อให้ที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 14 ที่จะจัดขึ้นในเดือนธันวาคม 2551 ที่ประเทศไทย ให้การรับรอง ทั้งนี้ เป้าหมายหลักของ APSC ได้แก่ (1) สร้างประชาคมอาเซียนให้มีค่านิยมร่วมกัน (2) ให้อาเซียนสามารถเผชิญกับภัยคุกคาม ความมั่นคงในรูปแบบเดิมและรูปแบบใหม่และส่งเสริมความมั่นคงของมนุษย์ (3) ให้ประชาคมอาเซียนมีปฏิสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นและสร้างสรรค์กับประชาคมโลก โดยให้อาเซียนมีบทบาทนำในภูมิภาค

             ด้วยตระหนักถึงความเกี่ยวพันกันของความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ประเทศไทย ได้เสนอให้มีการประชุมว่าด้วยการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ASEAN Regional Forum - ARF) ในปี 2537 โดย ARF จะมุ่งเน้น 3 เรื่องหลักได้แก่ ส่งเสริมการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกัน (Confidence Building) การพัฒนาการทูตเชิงป้องกัน (Preventive Diplomacy) และการแก้ไขความขัดแย้ง (Conflict Resolution)

              ประเทศที่เป็นสมาชิกการประชุมว่าด้วยการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ได้แก่ ออสเตรเลีย บรูไน ดารุสซาลาม กัมพูชา แคนาดา จีน สหภาพยุโรป อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เกาหลีเหนือ ลาว มาเลเซีย มองโกเลีย พม่า นิวซีแลนด์ ปากีสถาน ปาปัวนิวกินี ฟิลิปปินส์ รัสเซีย สิงคโปร์ ศรีลังกา ติมอร์-เลสเต ไทย สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม 

               การประชุมว่าด้วยการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะหารือเรื่องความมั่นคงในภูมิภาคเป็นหลัก ซึ่งรวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมหาอำนาจ การไม่แพร่ขยายของอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง การต่อต้านการก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ สถานการณ์ในทะเลจีนใต้และคาบสมุทรเกาหลี

              นอกจากนี้ อาเซียนยังมีกรอบความร่วมมือทางทหาร (ASEAN Defense Ministerial Meeting -ADMM) เพื่อสร้างเครือข่ายและความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างฝ่ายทหารของประเทศสมาชิก ความร่วมมือ ด้านการป้องกันยาเสพติด การต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติและการก่อการร้าย โดยเฉพาะประเด็นหลังนี้ อาเซียนได้ลงนามในอนุสัญญาอาเซียนว่าด้วยการต่อต้านการก่อการร้าย ในปี 2550


ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ

                ประเทศสมาชิกอาเซียนได้จัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area –AFTA) ในปี 2535 ตามข้อเสนอของนายอานันทน์ ปันยารชุน นายกรัฐมนตรีไทยในสมัยนั้น เพื่อเป็นกลไกช่วยขยายการค้าระหว่างประเทศสมาชิกและดึงดูดการลงทุนจากภายนอก ขณะนี้ (ปี 2551) ประเทศสมาชิกอาเซียนเดิม 6 ประเทศ ได้ลดภาษีสินค้าในกรอบ AFTA ทุกรายการลงเหลือร้อยละ 0-5 โดยสินค้าร้อยละ 80 มีอัตราภาษีที่ร้อยละ 0 แล้ว ส่วนสินค้าที่เหลือ ประเทศสมาชิกอาเซียนเดิมมีเป้าหมายที่จะลดอัตราภาษีเป็นร้อยละ 0 ในปี 2553 และประเทศสมาชิกใหม่ (CLMV) ในปี 2558 

              สำหรับการค้าบริการได้ทยอยเปิดเสรีมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยมุ่งเน้นใน 7 สาขา คือ การเงิน ขนส่งทางทะเล ขนส่งทางอากาศ การสื่อสาร โทรคมนาคม การท่องเที่ยว ก่อสร้าง และบริการธุรกิจ

             ส่วนการลงทุน ประเทศสมาชิกอาเซียนได้ดำเนินความร่วมมือในการส่งเสริมการลงทุนครอบคลุมสาขาการผลิต เกษตร ประมง ป่าไม้ เหมืองแร่ และบริการที่เกี่ยวข้องกับ 5 สาขาดังกล่าว (services incidental) แต่ยังจำกัดเฉพาะการลงทุนโดยตรง (FDI) ไม่รวมถึงการลงทุนด้านหลักทรัพย์ (portfolio investments) 

             นอกจากนี้ อาเซียนมีความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมของอาเซียน (ASEAN Industrial Cooperation - AICO) ซึ่งมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อภาคเอกชน AICO มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้กับสินค้าอุตสาหกรรมของอาเซียน โดยสนับสนุนการแบ่งการผลิตภายในภูมิภาค ลดต้นทุนการผลิตโดยการลดภาษีนำเข้าสินค้าสำเร็จรูป กึ่งสำเร็จรูป และวัตถุดิบ แต่มีเพียงอุตสาหกรรมรถยนต์เท่านั้นที่ใช้ประโยชน์จากความตกลงนี้ 

            พัฒนาการในด้านแนวคิดการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียนได้เกิดขึ้นอย่างชัดเจน ในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 8 เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2545 ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ซึ่งผู้นำประเทศอาเซียนได้เห็นชอบให้มีการกำหนดทิศทางการดำเนินงานเพื่อไปสู่เป้าหมายที่ชัดเจน ได้แก่ การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community – AEC) ซึ่งอาจะเป็นไปในทำนองเดียวกับประชาคมเศรษฐกิจยุโรปในระยะเริ่มต้น

          อาเซียนได้ดำเนินการหลายด้านเพื่อผลักดันการจัดตั้ง AEC โดยมีแนวทางดำเนินงาน ที่สำคัญ ดังนี้

1. การนำร่องการรวมกลุ่ม 11 สาขาสำคัญ เพื่อส่งเสริมให้มีการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน และแรงงานฝีมือในสาขานำร่องทั้ง 11 สาขาที่เสรี และสร้างการรวมกลุ่มที่เป็นรูปธรรมพร้อมกำหนดประเทศผู้ประสานงานหลัก (Country Coordinators) ในแต่ละสาขา ดังนี้


ประเทศ

สาขา

อินโดนีเซีย

1) ยานยนต์ 2) ผลิตภัณฑ์ไม้

มาเลเซีย

2) ผลิตภัณฑ์ยาง 4) สิ่งทอ

พม่า

5) ผลิตภัณฑ์เกษตร 6) ผลิตภัณฑ์ประมง

ฟิลิปปินส์

7) อิเล็กทรอนิกส์

สิงคโปร์

8) เทคโนโลยีสารสนเทศ 9) สุขภาพ

ไทย

10) การท่องเที่ยว 11) การบิน

           ทั้งนี้ มีการจัดทำแผนงาน (Roadmap) ของแต่ละสาขาที่ระบุมาตรการสำคัญทั้งที่เป็นมาตรการร่วมและมาตรการเฉพาะของแต่ละสาขาเพื่อส่งเสริมการรวมกลุ่ม โดยเฉพาะการเร่งขจัดอุปสรรคต่างๆ ทั้งในด้านการค้าสินค้า (การเร่งลดภาษีสินค้าในสาขาสำคัญ การขจัดมาตรการกีดกันทางการค้า ที่ไม่ใช่ภาษี) การค้าบริการ และการลงทุน ให้มีการเคลื่อนย้ายทรัพยากรการผลิตได้อย่างเสรี รวมทั้งส่งเสริมการ "outsource” ภายในภูมิภาค เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ ในอาเซียน ทั้งนี้ รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนเห็นชอบให้เพิ่มสาขาโลจิสติกส์เป็นสาขาใหม่สาขาที่ 12 โดยมีเวียดนามเป็นผู้ประสานงานหลักของสาขาดังกล่าว

2. พิมพ์เขียวเพื่อเร่งรัดการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Blueprint) แผนงานภายใต้ AEC Blueprint มีเป้าหมายที่จะส่งเสริมให้อาเซียนเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียว มีการเคลื่อน ย้ายสินค้า บริการ การลงทุน แรงงานฝีมืออย่างเสรี และการเคลื่อนย้ายเงินทุนที่เสรีมากขึ้น ส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของอาเซียน ลดช่องว่างการพัฒนาระหว่างประเทศสมาชิก และส่งเสริมการรวมตัวเข้ากับประชาคมโลกของอาเซียน ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2550 เห็นชอบร่างแผนงานและตารางเวลา และนายกรัฐมนตรี (พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์) ได้ลงนามในปฏิญญาเกี่ยวกับ AEC Blueprint แล้วในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 13 ที่สิงคโปร์ เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2550

 1.             ประโยชน์จากการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียน

การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียนจะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค และเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันของอาเซียนในตลาดโลก ซึ่งนับวันจะเริ่มทวีความ รุนแรงมากขึ้น โดยอาเซียนจะสามารถขยายการค้าและการลงทุนทั้งภายในภูมิภาคและระหว่างภูมิภาค ให้สูงขึ้นเนื่องจากการลดอุปสรรคทางด้านภาษี และมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีต่าง ๆ

2.             การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียนจะมีส่วนสำคัญในการช่วยขยายการค้าและ การลงทุนภายในภูมิภาคให้สูงขึ้น เนื่องจากทำให้มีการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน และเงินทุนได้ อย่างเสรีมากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการผลิต และส่งเสริมให้มีการใช้วัตถุดิบ/ชิ้นส่วนที่ผลิตภายในภูมิภาค มากยิ่งขึ้น

3.             AEC จะช่วยลดการพึ่งพาตลาดในประเทศที่สาม โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มที่อาเซียนมีศักยภาพและสามารถผลิตได้ในระดับมาตรฐานสากล อาทิ ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพ และเครื่องสำอาง เป็นต้น

4.             การเป็นประชาคมจะช่วยสร้างอำนาจการต่อรองของอาเซียนในเวทีโลก เนื่องจากปัจจุบันแนวโน้มการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆ ได้เพิ่มมากขึ้นทั้งในกรอบพหุภาคี และกรอบภูมิภาค การรวมกลุ่มของอาเซียนจึงช่วยเพิ่มอำนาจการต่อรองกับกลุ่มเศรษฐกิจอื่น ๆ และนำมาซึ่งผลประโยชน์โดยรวมของภูมิภาค

5.             การเคลื่อนย้ายอย่างเสรีของปัจจัยการผลิตจะช่วยเพิ่มสวัสดิการและยกระดับความเป็นอยู่ของผู้บริโภคให้ดียิ่งขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคจะสามารถเลือกสรรสินค้าต่าง ๆ ได้หลากหลายมากขึ้น ในราคาที่ถูกลง รวมทั้งได้รับสินค้าที่มีมาตรฐานในระดับภูมิภาคและระดับโลก

6.             ความร่วมมือที่เข้มข้นขึ้นจะช่วยพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของอาเซียนโดยยกระดับกระบวนการผลิต และเกื้อกูลกันในขั้นตอนกระบวนการผลิต ตั้งแต่กระบวนการจัดซื้อ กระบวนการผลิต และการตลาด

7.             ผลประโยชน์ข้างเคียงจากการเป็นประชาคมคือ ช่วยให้เกิดการใช้ทรัพยากรต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อันเนื่องมาจากการประหยัดต่อขนาด (economy of scale) การแบ่งงานกันทำ (division of labor) และการพัฒนาความชำนาญในการผลิต (specialization) ตลอดจนมีการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ร่วมกัน


โอกาสทางการค้าของไทยจากการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ

              ในด้านดุลการค้า ก่อนเริ่ม AFTA ไทยขาดดุลการค้ากับกลุ่มอาเซียน โดยมีสัดส่วนการส่งออกของไทยไปอาเซียนคิดเป็น 12% ของการส่งออกของไทยทั้งหมด แต่ภายหลังมี AFTA ในปี 2535 ไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้าในระดับสูงมาตลอด และสัดส่วนการส่งออกของไทยไปอาเซียนก็เพิ่มขึ้นตามลำดับคิดเป็น 21% ของการส่งออกของไทยทั้งหมดในปัจจุบัน ทั้งนี้ มูลค่าการค้าส่งออกจากไทยไปอาเซียน 9 เดือนแรกของปี 2550 (ม.ค.-ก.ย.) คิดเป็นมูลค่า 22,932.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจาก ปี 2549 ในช่วงเดียวกัน (ซึ่งมีมูลค่า 20,156.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) จำนวน 2,776.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยได้เปรียบดุลการค้าเป็นมูลค่า 4,658.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

            ส่วนการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่เข้ามายังกลุ่มประเทศอาเซียนระหว่างปี 2538-2549 ปรากฏว่า สัดส่วนการลงทุนมายังไทยเมื่อปี 2538 ซึ่งมีมูลค่า 2,004 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (7.69%ของ FDI ทั้งหมดที่เข้ามายังอาเซียน) และไทยเป็นอันดับ 5 ของแหล่งลงทุนในอาเซียนได้เพิ่มสูงขึ้นเป็นมูลค่า 9,751 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2549 (18.9% ของ FDI ทั้งหมดที่เข้ามายังอาเซียน) ส่งผลให้ไทยเป็นอันดับ 2 ของแหล่งลงทุนในอาเซียน ทั้งนี้ มูลค่าการลงทุนจากอาเซียนมายังไทยในปี 2549 คิดเป็นมูลค่า 2,822.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเทียบเท่าเป็นการเพิ่ม 270.2% เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2548 (762.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)

             ด้านการท่องเที่ยวปรากฎว่า มีนักท่องเที่ยวจากอาเซียนมายังไทยในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2550 สูงถึง 2,193,211 คน ส่วนปี 2549 จำนวนนักท่องเที่ยวอาเซียนมายังไทยมีสูงถึง 3,556,395 คน

            ด้านอุตสาหกรรม (AICO) ปรากฎว่า โครงการของไทยภายใต้ AICO ในปี 2550 มีมูลค่า 1,404 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโครงการในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์

            ในส่วนของไทย ภาครัฐได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความร่วมมือในภูมิภาคอาเซียนมาโดยตลอด เนื่องจากเล็งเห็นว่า อาเซียนเป็นตลาดที่มีความสำคัญและมีศักยภาพในการเจริญเติบโตต่อไป ประกอบด้วยประชากรรวมกันกว่า 560 ล้านคน

             การส่งเสริมการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในสาขาสำคัญจะช่วยให้ไทยสามารถขยายการค้าและการลงทุนในสาขาที่ไทยมีศักยภาพได้มากขึ้น เช่น สาขาผลิตภัณฑ์อาหาร ผลิตภัณฑ์ยานยนต์ ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงสาขาบริการ อาทิ การท่องเที่ยว การบริการสุขภาพ และเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งสาขาต่าง ๆ เหล่านี้ ล้วนเป็นสาขาที่อาเซียนจะเร่งรัดการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจให้เห็น ผลเป็นรูปธรรมภายในปี 2553 (ค.ศ.2010)

             ในขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการไทยจึงจำเป็นต้องเร่งปรับตัวและใช้โอกาสจากการลดอุปสรรคทางการค้าและการลงทุนต่างๆ ลง ให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะในสาขาที่ไทยมีความพร้อมและมีขีดความสามารถในการแข่งขันสูง


ความร่วมมือด้านสังคมและวัฒนธรรม

           ความร่วมมือด้านสังคมและวัฒนธรรมในกรอบอาเซียนประกอบด้วยความร่วมมือด้านต่างๆ เช่น เยาวชน การศึกษาและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สาธารณสุข วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม สตรี แรงงาน การขจัดความยากจน สวัสดิการสังคมและการพัฒนา วัฒนธรรมและสนเทศ กิจการพลเรือน ตรวจคนเข้าเมืองและกงสุล ยาเสพติด การจัดการภัยพิบัติ สิทธิมนุษยชน และมูลนิธิอาเซียน ซึ่งจะมีคณะทำงานอาเซียนรับผิดชอบการดำเนินความร่วมมือในแต่ละด้าน 

           ที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 9 ปี 2546 ที่บาหลี ผู้นำประเทศอาเซียนได้แสดงเจตนารมณ์ใน Bali Concord II เห็นชอบให้จัดตั้งประชาคมอาเซียนภายในปี 2563 (ค.ศ. 2020) ประกอบด้วยความร่วมมือสามเสาหลัก ได้แก่ ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน โดยมีวัตถุประสงค์ให้อาเซียนเป็นสังคม ที่เอื้ออาทรและมีความมั่นคง ประชากรอาเซียนมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีและมีการพัฒนาในทุกด้านเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน รวมทั้งส่งเสริมเอกลักษณ์ของอาเซียน โดยในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 10 ที่เวียงจันทน์ ปี 2547 ผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนได้เห็นชอบต่อแผนปฏิบัติการประชาคมสังคม-วัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community Plan of Action) ที่ระบุอยู่ในแผนปฏิบัติการเวียงจันทน์ (Vientiane Action Programme-VAP) ซึ่งเน้น 4 ด้านหลัก ได้แก่ (1) การสร้างประชาคมแห่งสังคมที่เอื้ออาทร (2) แก้ไขผลกระทบต่อสังคมอันเนื่องมาจากการรวมตัวทางเศรษฐกิจ (3) ส่งเสริมความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมและการจัดการดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างถูกต้อง และ (4) ส่งเสริมความเข้าใจระหว่างประชาชนในระดับรากหญ้า การเรียนรู้ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม รวมทั้งรับรู้ข่าวสารเพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงเอกลักษณ์อาเซียน (ASEAN Identity) ซึ่งจะเป็นรากฐานที่จะนำไปสู่การเป็นประชาคมอาเซียน ต่อมา ในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 12 ผู้นำประเทศอาเซียนได้ลงนามใน Cebu Declaration on the Acceleration of the Establishment of an ASEAN Community by 2015 เร่งรัดการเป็นประชาคมอาเซียนให้เร็วขึ้นอีก 5 ปี คือ ปี 2558 (ค.ศ. 2015)


           ขณะนี้ อาเซียนอยู่ระหว่างการจัดทำร่างแผนงานการจัดตั้งประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (Draft ASEAN Socio-Cultural Community Blueprint) ร่างแผนงานฯ ประกอบด้วยความร่วมมือหลักได้แก่ (1) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (Human Development) (2) การคุ้มครองและสวัสดิการสังคม (Social Welfare and Protection) (3) สิทธิและความยุติธรรมทางสังคม (Social Justice and Rights) (4) ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Sustainability) (5) เอกลักษณ์อาเซียน (Common ASEAN Identity) (6) การลดช่องว่างทางการพัฒนา (Narrowing the Development Gap) ซึ่งยังอยู่ระหว่างการพิจารณาจัดทำภายใต้คณะยกร่างแผนงานการจัดตั้งประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน โดยได้เสนอให้ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศ ครั้งที่ 41 ในเดือนก.ค. 2551 ที่ประเทศสิงคโปร์ ให้ความเห็นชอบก่อนเสนอให้ผู้นำประเทศอาเซียนลงนามในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 14 ในเดือน ธ.ค. 2551 ที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพ 


ความริเริ่มเพื่อการรวมตัวกัน

            การที่อาเซียนมีประเทศสมาชิก 2 กลุ่มคือ สมาชิกเก่า 6 ประเทศ (บูรไนฯ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย หรือ ASEAN 6) และสมาชิกใหม่ (กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม หรือ CLMV) โดยกลุ่มสมาชิกใหม่เป็นประเทศในกลุ่มประเทศด้อยพัฒนาที่สุด จึงเกิดช่องว่างการพัฒนาระหว่างกลุ่มประเทศสมาชิกเก่าและกลุ่มประเทศสมาชิกใหม่ของอาเซียน ดังนั้น เพื่อให้อาเซียนสามารถก้าวเดินทางไปพร้อมกันให้มากที่สุด จึงต้องลดช่องว่างการพัฒนานี้ ซึ่งที่ประชุมสุดยอดอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ ครั้งที่ 4 ที่สิงคโปร์ (พฤศจิกายน 2543) ได้เห็นพ้องให้มี "ความริเริ่มเพื่อการรวมตัวของอาเซียน” (Initiative for ASEAN Integration - IAI) เพื่อลดช่องว่างการพัฒนาอันจะช่วยเร่งรัดการรวมตัวของประเทศสมาชิกอาเซียน

           IAI มีจุดประสงค์เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถของประเทศ CLMV เพื่อลดปัญหาความ ยากจน/ยกระดับความเป็นอยู่ของประชากร พัฒนาระบบข้าราชการ และเสริมสร้างขีดความสามารถใน การแข่งขันโดยมีแผนงาน 6 ปี (ปี 2545-2551) รองรับ และมีกลไกในการจับคู่ (Co-shepherd Mechanism) ระหว่างประเทศ ASEAN 6 กับประเทศ CLMV ในแต่ละสาขาความร่วมมือ อาทิ โครงสร้างพื้นฐาน (ขนส่งและ พลังงาน) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ความยากจนและคุณภาพชีวิต การท่องเที่ยว การรวมตัวทางเศรษฐกิจและสาขาย่อยด้านบรรยากาศการลงทุน และสาขาทั่วไป ทั้งนี้ ผู้เสนอโครงการจะให้เงินสนับสนุน โดยอาจเป็นเต็มจำนวนหรือร่วมกันระหว่าง ASEAN 6 กับประเทศคู่เจรจา องค์การเพื่อการพัฒนาต่างๆ และประเทศนอกภูมิภาค


           ภายหลังจากการดำเนินการตามแผนงานได้ 3 ปี สำนักเลขาธิการอาเซียนทำการทบทวน ความคืบหน้าของการดำเนินงานตามแผนงาน (Mid-term Review) เมื่อพฤศจิกายน 2548 โดยได้มีการเพิ่ม สาขาความร่วมมือ และทบทวนกลไก co-shepherd ดังนี้


สาขาความร่วมมือ

ประเทศผู้ประสานงาน

Co-shepherd

โครงสร้างพื้นฐาน

กัมพูชา

อินโดนีเซีย (ด้านพลังงาน)

ไทย (ด้านการขนส่ง)

การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

ลาว

บรูไน สิงคโปร์

เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

พม่า

มาเลเซีย

การรวมตัวทางเศรษฐกิจ

- สาขาย่อย บรรยากาศการลงทุน*

เวียดนาม

กัมพูชา

ฟิลิปปินส์

ไทย สิงคโปร์ (รอยืนยัน)

ด้านท่องเที่ยว*

พม่า

อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ (รอยืนยัน)

ความยากจนและคุณภาพชีวิต*

ลาว

อินโดนีเซีย มาเลเซีย

สาขาเรื่องทั่วไป*

เวียดนาม

ฟิลิปปินส์

(* คือ สาขาใหม่ที่ปรับเพิ่มขึ้น จากผลของ Mid-term Review) 


            ขณะนี้ IAI มีโครงการทั้งสิ้น 203 โครงการ (ณ วันที่ 15 พฤษภาคม 2551) โดยมีโครงการที่มีเงินสนับสนุน 158 โครงการ และโครงการที่ได้ดำเนินการแล้ว 116 โครงการ สิงคโปร์ให้เงินสนับสนุนโครงการ IAI มากที่สุดในประเทศอาเซียน 6 ประมาณ 22.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 73.64% ของเงินที่ประเทศอาเซียน 6 สนับสนุนโครงการ IAI ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโครงการสาขาพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยใช้ศูนย์ IAI Centre ที่สิงคโปร์จัดตั้งขึ้นในแต่ละประเทศ CLMV เป็นศูนย์ฝึกอบรม ส่วนไทยมี 14 โครงการ มูลค่ารวม 1,105,949 ดอลลาร์สหรัฐ (รวมเงินสมทบจากองค์กร/ประเทศผู้ให้ความช่วยเหลือด้วย ณ วันที่15 มีนาคม 2551) อย่างไรก็ดี ประเทศไทยให้ความช่วยเหลือแก่ CLMV ในลักษณะความร่วมมือทวิภาคีมากที่สุดในบรรดาประเทศอาเซียน 6 โดยมีมูลค่าเงินมากกว่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ตั้งแต่ปี 2539 จนถึงปัจจุบัน)

            โครงการ IAI ที่ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากประเทศคู่เจรจาและองค์กรเพื่อการพัฒนามีทั้งสิ้น 62 โครงการ (ณ วันที่ 15 พฤษภาคม 2551) มูลค่ารวม 20.18 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยประเทศคู่เจรจาที่ให้ ความช่วยเหลือมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี อินเดีย นอร์เวย์ และสหภาพยุโรป รวม 17.64 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 87.1% ของเงินทุนสนับสนุนทั้งหมดที่ได้รับจากประเทศคู่เจรจา 

              อาเซียนได้เริ่มมีการหารือเรื่องยุทธศาสตร์ใหม่ของ IAI เพื่อให้สนับสนุนเป้าหมายการเป็นประชาคมอาเซียนในปี 2558 รวมทั้งการจัดทำแผนงาน IAI ระยะที่ 2 (2552-2558) ซึ่งแผนงานปัจจุบันจะ หมดอายุลงในปี 2551 โดยเวียดนามได้จัดการประชุม IAI Development Cooperation Forum (IDCF) ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 12-13 มิถุนายน 2550 เพื่อระดมสมองเกี่ยวกับแนวทางลดช่องว่างของระดับการพัฒนาของอาเซียน และยุทธศาสตร์ใหม่ของ IAI หลังปี 2551 กับประเทศคู่เจรจาและองค์กรพัฒนาระหว่างประเทศ เพื่อให้ IAI เป็นกลไกที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยที่ประชุมมีข้อเสนอแนะต่อยุทธศาสตร์ใหม่ของ IAI กล่าวคือ ให้ IAI เป็นกลไกความร่วมมือสำหรับประเทศอาเซียนโดยรวม ไม่ใช่มุ่งเน้นเฉพาะการให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศ CLMV เท่านั้น

            ในแผนงาน IAI ระยะที่ 2 อาเซียนประสงค์จะขยายดำเนินการเสริมสร้างขีดความสามารถ ของกลุ่ม CLMV ให้สอดคล้องกับแผนการจัดตั้งประชาคมอาเซียนทั้ง 3 เสาหลัก ได้แก่ ประชาคมเศรษฐกิจ ประชาคมการเมืองและความมั่นคง และประชาคมสังคมและวัฒนธรรม และจะเสนอร่างแผนงานระยะที่สองให้ที่ประชุมผู้นำอาเซียนรับรองในเดือนธันวาคม 2551


ความสัมพันธ์กับภายนอก

            ในวิสัยทัศน์ 2020 ได้กำหนดให้อาเซียนส่งเสริมการมีปฏิสัมพันธ์กับภายนอกโดยเฉพาะการส่งเสริมความสัมพันธ์และความร่วมมือกับประเทศคู่เจรจา (Dialogue Partners) ทั้ง 10 ประเทศ คือ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหรัฐฯ แคนาดา สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น จีน รัสเซีย เกาหลีใต้ และอินเดีย เพื่อทำให้เกิดสภาพแวดล้อมระหว่างประเทศในภูมิภาคที่เอื้ออำนวยต่อกระบวนการสร้างประชาคมอาเซียน อาเซียนพยายามชักชวนให้ประเทศคู่เจรจาเข้าเป็นภาคีในสนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งกำหนดแนวทางการดำเนินความสัมพันธ์ของรัฐต่างๆ ในภูมิภาคโดยคำนึงถึงสันติภาพ ความมั่นคง และความเจริญทางเศรษฐกิจร่วมกัน (ขณะนี้เหลือเพียงสหรัฐฯ แคนาดา และสหภาพยุโรปที่ยังไม่ได้เข้าร่วมในสนธิสัญญานี้) นอกจากนี้ หลายประเทศคู่เจรจา (ยกเว้นนิวซีแลนด์และแคนาดา) ยังได้ ลงนามในเอกสารความเป็นหุ้นส่วนกับอาเซียนและมีแผนปฏิบัติการร่วมในการดำเนินความร่วมมือใน ด้านต่างๆ กับอาเซียน โดยเฉพาะการต่อต้านการก่อการร้าย และความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ ซึ่งจะช่วยให้การรวมตัวของอาเซียนเป็นไปอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้นด้วย

 

ความสัมพันธ์อาเซียน-ออสเตรเลีย

             ออสเตรเลียเป็นประเทศแรกที่สถาปนาความสัมพันธ์ประเทศคู่เจรจาอย่างเป็นทางการกับอาเซียนเมื่อปี 2517 (ค.ศ.1974) และดำเนินความสัมพันธ์กันอย่างราบรื่น เริ่มต้นด้วยความร่วมมือด้าน การพัฒนา ต่อมามีการปรับเปลี่ยนลำดับความสำคัญของความร่วมมือไปตามพัฒนาการทางเศรษฐกิจและความจำเป็นอื่นๆ เพื่อสนองความต้องการของทั้งสองฝ่าย ปัจจุบันออสเตรเลียเน้นความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการรวมตัวทางเศรษฐกิจของอาเซียน และมีบทบาทสำคัญในการประชุมว่าด้วยการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ARF) 

            อาเซียนและออสเตรเลียได้ลงนามในเอกสารสำคัญหลายฉบับ อาทิ Joint Declaration on ASEAN-Australia Comprehensive Partnership และ Plan of Action to Implement Joint Declaration on ASEAN-Australia Comprehensive Partnership (2550) และ ASEAN-Australia Joint Declaration for Cooperation to Combat International Terrorism (2547) ออสเตรเลียได้ภาคยานุวัติสนธิสัญญาไมตรีและและความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อเดือนธันวาคม 2548 ออสเตรเลียมีความร่วมมือเพื่อการพัฒนากับอาเซียนภายใต้ ASEAN-Australia Development Cooperation Program (AADCP) ซึ่งขณะนี้อยู่ในการดำเนินงานระยะที่สอง (ค.ศ.2008-2015) โดยมีมูลค่าความช่วยเหลือที่ออสเตรเลียให้แก่อาเซียนเป็นเงิน 57 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย นอกจากนี้ อาเซียนยังได้เจรจาจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน-ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ (ASEAN-Australia-New Zealand Free Trade Agreement - AANZFTA) ซึ่งจะลงนามในความตกลงการค้าเสรีได้ในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 14 ที่กรุงเทพฯ ในกลางเดือนธันวาคม 2551 

            ปัจจุบัน ไทยเป็นประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน-ออสเตรเลีย (กรกฎาคม 2549 – 2552) โดยสิงคโปร์จะรับหน้าที่เป็นประเทศผู้ประสานงานฯ ต่อไป ในปี 2552 – 2555


กฎบัตรอาเซียน

           พัฒนาการความร่วมมือของอาเซียนในช่วงแรกๆ หลังการก่อตั้งเน้นความร่วมมือด้านการเมือง ก่อนที่จะ ขยายไปสู่ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและสังคมในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา และมีการรวมกลุ่มที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้น การเปลี่ยนแปลงของบริบททางการเมืองและเศรษฐกิจของโลกและภูมิภาค ความขัดแย้งด้านอุดมการณ์ทางการเมืองในยุคสงครามเย็นยุติลง รวมทั้งการก้าวเข้าสู่โลกยุคโลกาภิวัตน์ที่มีมหาอำนาจใหม่คือ จีนและอินเดีย และต้องเผชิญกับภัยคุกคามในรูปแบบใหม่ เช่น โรคระบาด การก่อการร้าย การค้ามนุษย์ สิ่งแวดล้อม ภัยพิบัติ ทำให้อาเซียนต้องปรับตัว และปรับระบบการทำงาน โดยเน้นประสิทธิภาพและการมีส่วนร่วมของประชาชนมากขึ้นโลกปัจจุบันเป็นโลกของความร่วมมือในระดับภูมิภาคจะเห็นได้จากการรวมกลุ่มของประเทศต่างๆในยุโรป ละติน อเมริกา เอเชียใต้ และแอฟริกา เพื่อสร้างโอกาส เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และอำนาจต่อรอง อาเซียนจึงจำเป็นต้องวางรากฐานสำหรับการสร้างประชาคมอาเซียนที่ประกอบด้วย 3 เสาหลักคือ ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนภายในปี 2558

              กฎบัตรอาเซียนเป็นความตกลงระหว่างประเทศสมาชิกที่กำหนดกรอบโครงสร้างองค์กร เป้าหมาย หลักการ และกลไกที่สำคัญต่างๆ ของอาเซียน และให้สถานะนิติบุคคลแก่อาเซียน โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อ (1) เพิ่มประสิทธิภาพของอาเซียนในการดำเนินการตามเป้าหมายต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรวมตัวไป สู่การเป็นประชาคมอาเซียนภายในปี 2558 (2) สร้างกลไกที่จะส่งเสริมให้รัฐสมาชิกปฏิบัติตามความตกลงต่างๆ ของอาเซียน และ (3) ทำให้อาเซียนเป็นองค์กรที่ใกล้ชิดและก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริงมากขึ้น 

             ในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 9 ที่บาหลี ปี 2546 ที่ประชุมได้เห็นชอบให้มีการจัดตั้ง ประชาคมอาเซียนภายในปี 2563 (ค.ศ.2020) ต่อมา ในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 10 ที่เวียงจันทน์ สปป.ลาว ปี 2547 ผู้นำได้เห็นชอบต่อแผนปฏิบัติการเวียงจันทน์ (Vientiane Action Programme –VAP) ซึ่งกำหนดมาตรการในการขับเคลื่อนการสร้างประชาคมอาเซียน ซึ่งรวมถึงการจัดทำกฎบัตรอาเซียนด้วย ซึ่งผู้นำอาเซียนในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 11 ปีถัดมา ได้เห็นชอบให้จัดทำกฎบัตรอาเซียนและตั้งคณะผู้ทรงคุณวุฒิเรื่องกฎบัตรอาเซียน (Eminent Persons Group on the ASEAN Charter-EPG) เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเกี่ยวกับทิศทางการรวมตัวของอาเซียนและสาระสำคัญที่ควรมีปรากฏในกฎบัตรอาเซียน การร่างกฎบัตรอาเซียนทำกันในปี 2549 โดยให้คณะทำงานระดับสูง และได้เสนอให้ผู้นำอาเซียนลงนามในกฎบัตรอาเซียนระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 13 ที่สิงคโปร์ ปี 2550

 

ความสำคัญของกฎบัตรอาเซียนต่อประเทศไทย  

             ไทยเป็น 1 ใน 5 ของผู้ร่วมก่อตั้งอาเซียน เป็นสถานที่กำเนิดของอาเซียน และมีบทบาทนำ ในอาเซียนมาโดยตลอด ไทยเป็นประธานอาเซียนในปี 2551-2552 และระหว่างปี 2551-2555 ดร. สุรินทร์ พิศสุวรรณ จะเข้ารับตำแหน่งเลขาธิการอาเซียน ซึ่งเป็นการตอกย้ำบทบาทนำของไทย ทั้งนี้ การมีกฎบัตรอาเซียนจะช่วยให้อาเซียนมีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น จะเป็นการสะท้อนความสำเร็จทั้งของไทยและภูมิภาคนี้โดยรวม


1.             กฎบัตรอาเซียนให้ความสำคัญกับการปฏิบัติตามพันธกรณีต่างๆ ของประเทศสมาชิก ซึ่งจะช่วยสร้างเสริมหลักประกันให้กับไทยว่าจะสามารถได้รับผลประโยชน์ตามที่ตกลงกันไว้อย่างเต็มที่ นอกจากนี้ การปรับปรุงการดำเนินงานและโครงสร้างองค์กรของอาเซียนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และการเสริมสร้างความร่วมมือใน 3 เสาหลักของประชาคมอาเซียนจะเป็นฐานสำคัญที่จะทำให้อาเซียนสามารถตอบสนองต่อความต้องการและผลประโยชน์ของรัฐสมาชิก รวมทั้งยกสถานะและอำนาจต่อรอง และภาพลักษณ์ของประเทศสมาชิกในเวทีระหว่างประเทศได้ดียิ่งขึ้น 

               นอกจากนี้ เรื่องใหม่ในอาเซียนที่ไทยผลักดันให้ปรากฏในกฎบัตรฯ ได้แก่ (1) การจัดตั้งองค์กรสิทธิมนุษยชนของอาเซียน ทั้งนี้ จะต้องมีการจัดทำ Terms of Reference เพื่อกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรนี้ต่อไป (2) การให้อำนาจเลขาธิการอาเซียนสอดส่องและรายงานการปฏิบัติตามความตกลงของรัฐสมาชิก (3) การจัดตั้งกลไกสำหรับการระงับข้อพิพาทต่างๆ ระหว่างประเทศสมาชิก (4) การระบุให้ผู้นำเป็นผู้ตัดสินว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อรัฐผู้ละเมิดพันธกรณีตามกฎบัตรฯ อย่างร้ายแรง (5) การเปิดช่องให้ใช้วิธีการอื่นในการตัดสินใจได้หากไม่มีฉันทามติ (6) การให้ความสำคัญกับการส่งเสริม การปรึกษาหารือระหว่างประเทศสมาชิกเพื่อแก้ไขปัญหาที่กระทบต่อผลประโยชน์ร่วม ซึ่งทำให้การตีความหลักการห้ามแทรกแซงกิจการภายในมีความยืดหยุ่นมากขึ้น (7) การเพิ่มบทบาทของประธานอาเซียนเพื่อให้อาเซียนสามารถตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉินได้อย่างทันท่วงที (8) การเปิดช่องทางให้อาเซียนสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับองค์กรภาคประชาสังคมมากขึ้น และ (9) การปรับปรุงโครงสร้างองค์กรให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เช่น ให้มีการประชุมสุดยอดอาเซียน 2 ครั้งต่อปี จัดตั้งคณะมนตรีเพื่อประสานความร่วมมือในแต่ละ 3 เสาหลัก และการมีคณะผู้แทนถาวรประจำอาเซียนที่กรุงจาการ์ตา เพื่อลดเวลาและค่าใช้จ่ายในการประชุมของอาเซียน เป็นต้น


การดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนของไทย

                ไทยได้รับหน้าที่ประธานอาเซียนต่อจากสิงคโปร์ ภายหลังการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศ อาเซียน ครั้งที่ 41 ที่สิงคโปร์ในเดือน ก.ค. 2551 การดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนของไทยอยู่ในช่วงเวลา ที่สำคัญเนื่องจาก (1) กฎบัตรอาเซียนจะมีผลใช้บังคับ (2) มีการจัดทำแผนงานสำหรับการจัดตั้งประชาคมการเมืองความมั่นคง ประชาคมเศรษฐกิจ และประชาคมสังคมและวัฒนธรรมเพื่อมุ่งไปสู่การรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียนในปี 2558 และ (3) อยู่ในช่วงเวลาเดียวกับที่คนไทย คือ ดร. สุรินทร์ พิศสุวรรณ ดำรงตำแหน่งเลขาธิการอาเซียน (วาระ 5 ปี ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2551-31 ธ.ค. 2555)

               โดยที่กฎบัตรอาเซียนกำหนดให้วาระการดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนเป็นไปตามปีปฏิทิน ดังนั้น หากกฎบัตรอาเซียนมีผลบังคับใช้ภายในปี 2551 ไทยจะดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนเป็นเวลา 1 ปี 6 เดือนคือ ตั้งแต่ ก.ค. 2551 – ธ.ค. 2552 แต่หากกฎบัตรฯ ยังไม่มีผลบังคับใช้ ไทยจะส่งมอบตำแหน่งประธาน ให้เวียดนามภายหลังการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 42 ในเดือน ก.ค. 2552 ตามแนวปฏิบัติเดิม

               ในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน (อาเซียนที่ยังไม่มีและมีกฎบัตร) ไทยมีภารกิจต้องเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดอาเซียน 3 ครั้ง โดยกำหนดจะจัดการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 14 วันที่ 15-18 ธ.ค. 2552 และการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 15 ในปลายปี 2552 รวมทั้งการประชุมสุดยอดอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (ASEAN Summit Retreat) ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2552 นอกจากนี้ ไทยยังได้รับการร้องขอจากที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (ASEAN FMs’ Retreat) ที่สิงคโปร์ ให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 ด้วยนอกจากนี้ ในระหว่างการเดินทางเยือนไทยของเลขาธิการสหประชาชาติเมื่อเดือน ธ.ค. 2551 ไทยได้เสนอที่จะจัดการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหประชาชาติ ครั้งที่ 3 ต่อเนื่องจากการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 14ในวันที่ 18 ธ.ค. 2551 ด้วย ขณะนี้ได้รับการตอบรับอย่างไม่เป็นทางการจากเลขาธิการสหประชาชาติแล้ว


ยุทธศาสตร์การดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนของไทย

          กระทรวงการต่างประเทศได้หารือกับหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องและได้ร่วมกันกำหนดยุทธศาสตร์ที่สำคัญในวาระที่ไทยจะดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนดังนี้

 1.             สร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับอาเซียนให้ประชาชนได้รับทราบ

2.             ส่งเสริมความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทไทยในฐานะประธานอาเซียน

3.             เสริมสร้างประชาคมการเมืองและความมั่นคงภายในปี 2558

4.             เสริมสร้างประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนภายในปี 2558 

5.             เสริมสร้างประชาคมสังคมและวัฒนธรรมภายในปี 2558

6.             ส่งเสริมความร่วมมือกับประเทศคู่เจรจาของอาเซียน

       ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศได้กำหนดเป้าหมายสำคัญที่ไทยจะผลักดันในช่วงที่ดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนไว้ 3 ประการ ได้แก่

 1.             การอนุวัติข้อผูกพันภายใต้กฎบัตรอาเซียน (Realising the commitments under the ASEAN Charter) โดยเฉพาะการยกร่างขอบเขตอำนาจหน้าที่ขององค์กรต่าง ๆ ที่จะจัดตั้งขึ้น ได้แก่ กลไก สิทธิมนุษยชนอาเซียน และคณะกรรมการผู้แทนถาวรประจำอาเซียน ณ กรุงจาการ์ตา เป็นต้น

2.             การทำให้อาเซียนเป็นประชาคมที่มีประชาชนเป็นจุดศูนย์กลาง (Revitalising ASEAN as a people-centred Community) ซึ่งหมายถึงการเสริมสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับอาเซียนในหมู่ประชาชน การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนและภาคประชาสังคมในการสร้างประชาคมอาเซียน

3.             การเสริมสร้างการพัฒนาและความมั่นคงของมนุษย์สำหรับประชาชนทุกคนในภูมิภาค (Reinforcing human development and security for all the peoples of the region) โดยส่งเสริมให้ความร่วมมือของอาเซียนตอบสนองต่อผลประโยชน์ของประชาชนให้มากที่สุด โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาที่มีผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน เช่น ความมั่นคงด้านอาหาร พลังงาน การจัดการภัยพิบัติและการเสริมสร้างเสถียรภาพด้านการเงินในภูมิภาค 

              นอกจากนี้ ไทยยังจะใช้โอกาสในการดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนผลักดันความร่วมมือของอาเซียนและความร่วมมือกับประเทศคู่เจรจา ภายใต้กรอบอาเซียน+1 อาเซียน+3 และการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (East Asia Summit-EAS) ให้ช่วยเสริมสร้างความมั่นคงของมนุษย์และแก้ไขปัญหาสำคัญที่มีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน เพื่อให้อาเซียนเป็นองค์กรที่ตอบสนองต่อผลประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริงและสามารถคงความสำคัญของอาเซียนในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ  ต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเอาไว้ได้

------------------------------------------ 

ข้อมูลจาก กรมอาเซียนกระทรวงการต่างประเทศ  30 กันยายน 2551


หมวด: อาเซียน (ASEAN) | Views: 3658 | เพิ่มโดย: jatuporn | Tags: อาเซียน, ประวัติความเป็นมาของอาเซียน, asean | Rating: 0.0/0
คอมเม้นทั้งหมด: 0
ComForm">
avatar