หน้าหลัก »
2012 » May » 23 » คำขวัญ คติพจน์ คำคม คืออะไร
20:36:21 คำขวัญ คติพจน์ คำคม คืออะไร |
คำขวัญ คำขวัญ คือ คำพูดหรือข้อความที่มุ่งให้กำลังใจ มักจะมีข้อคิดที่ผู้อ่านสามารถนำไปใช้เป็น แนวทางในการดำเนินชีวิตได้ หลักการเขียนคำขวัญ ๑. ใช้ถ้อยคำกะทัดรัด สละสลวย โดยเฉพาะคำที่มีสัมผัสคล้องจองกัน ๒. มีความลึกซึ้งกินใจ มีความหมายในด้านดี ๓. ใช้คำที่มีข้อคิดซึ่งเหมาะสมกับแต่ละโอกาสที่จะใช้คำขวัญ ๔. ใช้ถ้อยคำหรือระดับภาษาให้เหมาะกับฐานะทางสังคมของผู้ให้และผู้รับ ตัวอย่าง คำขวัญเพื่อแสดงจุดมุ่งหมายหรืออุดมคติของบุคคล เช่น ตำรวจอยู่ไหน ประชาอุ่นใจ ธนาคารกรุงเทพ เพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน กาชาดบรรเทาทุกข์ เพื่อความสุขของปวงประชา คำขวัญเพื่อเตือนใจให้ตระหนักถึงภัยอันตราย เช่น เมื่อสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ ชีวิตจะมีภัย รักษาชีวิต ดีกว่าพิชิตเวลา ขับรถให้เตือนตน ข้ามถนนให้เตือนตา เมื่อใช้ยาเสพติด ชีวิตรอความตาย คำขวัญเพื่อเรียกร้อง เชิญชวน จูงใจให้เชื่อมั่น หรือปฏิบัติในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เช่น บริจาคดวงตา ได้มหากุศล ภูมิใจไทยทำ ดีใจไทยใช้ อ่านหนังสือวันละหน้า เพิ่มคุณค่าแก่ชีวิต รักไทย นิยมไทย ร่วมกันใช้ของไทยทำ ยั้งคิดก่อนซื้อ ยั้งมือก่อนสั่ง ของนอกยังยั้ง ใช้แต่ของไทย
คติพจน์ คติพจน์ คือ ถ้อยคำที่เป็นแบบอย่าง มีคติชวนคิด มุ่งให้เกิดผลดีต่อตนเองและสังคม หลักการเขียนคติพจน์ ๑. ใช้ถ้อยคำน้อยมีความหมายลึกซึ้ง ๒. ใช้คำคล้องจอง สละสลวย ๓. มุ่งให้เกิดผลในด้านดีเท่านั้น ตัวอย่างคติพจน์ ถึงบรรลัยไว้ชื่อให้ลือชา หมายความว่า จงเป็นคนกล้าหาญยอมสละชีพ เพื่อให้ชื่อเสียงยังคง ปรากฏ อยู่ในแผ่นดิน ศรัทธาในธรรม นำทางชีวิต พิชิตกิเลส หมายความว่า ให้ยึดถือหลักธรรมของพระสัมมา สัมพุทธเจ้า เป็นแนวทาง ในการดำเนินชีวิตเพื่อความสงบสุขโดยปราศจากกิเลสใดๆ มาแผ้วพาน
คำคม คำคม คือ ถ้อยคำที่หลักแหลมชวนให้คิด หรือถ้อยคำหรือข้อความที่มีความหมายอยู่ในตัวด้วยการกล่าวซ้ำคำ บางคำในข้อความนั้นๆ ให้มีความหมายเกี่ยวพันกับเนื้อความเดิม คำคมที่ดีต้องแสดงถึงการใช้ความคิด หรือแสดงให้เกิดความรู้สึกอย่างใดอย่างหนึ่งอย่างชัดเจนเพื่อให้ผู้อ่านเกิดความลึกซึ้งเมื่อได้อ่าน หลักการเขียนคำคม ๑. ใช้ถ้อยคำสัมผัสคล้องจอง สละสลวย ๒. ใช้คำที่มีความหมายคมคาย ๓. มุ่งให้เกิดความคิดที่ดีและอยากปฏิบัติตาม ๔. มีความลึกซึ้งกินใจ ลักษณะของคำคม คำคม มีหลายลักษณะ ดังนี้ ๑. คำคมที่เป็นคำพูดธรรมดา ไม่มีสัมผัส โดยมากใช้คำง่ายๆ ไม่ต้องแปล อ่านแล้วเข้าใจทันที เช่น "ความรักทำให้คนตาบอด” "ลืมที่อันตรายคือลืมตัว” "ไม่มีใครรักเราเท่าพ่อแม่” "อดีตคือสิ่งที่ผ่าน อนาคตคือสิ่งที่ฝัน ปัจจุบันเท่านั้นคือความจริง” ๒. คำคมที่เป็นคำสัมผัสคล้องจองกันสั้นๆ ส่วนมากมี ๒ วรรค เพื่อจดจำ ได้ง่าย เช่น "ซื่อกินไม่หมด คดกินไม่นาน” "โกรธคือนรก งกคือเปรต” "ความงามไม่คงที่ ความดีซิคงทน” "ความสำเร็จของลูก คือความสุขของพ่อแม่” "อันนารีไม่ใช่เลขคณิต อย่าไปคิดให้หนักสมอง” ๓. คำคมที่แต่งด้วยคำประพันธ์ เช่น ใครลืมใครใจรู้ ใครอยู่ใครไปใจเห็น ใครสุขใครเศร้าเช้าเย็น ใจเป็นที่แจ้งแห่งเรา ใครชอบใครชังช่างเถิด ใครเชิดใครชูช่างเขา ใครเบื่อใครบ่นทนเอา ใจเราร่มเย็นเป็นพอ ชาญ สิโรรส
|
หมวด: ทฤษฏี หลักการ วิธีการ แนวคิด |
Views: 36805 |
เพิ่มโดย: jatuporn
| Tags: คำขวัญ คติพจน์ คำคม
| Rating: 0.0/0 |