Thursday, 21 November 2024, 20:09:21
ยินดีต้อนรับ, Guest
หน้าหลัก » 2012 » May » 23 » การศึกษาของเวียดนาม
21:13:44
การศึกษาของเวียดนาม

 การศึกษาของเวียดนาม
        ผู้เขียนได้มีโอกาสศึกษาระบบการศึกษาและปัญหาการศึกษาของเวียดนาม  ซึ่งดูจะมีความคล้ายกันกับของไทยเรา  จึงขอนำมาเล่าให้ท่านผู้อ่านได้ลองพิจารณากัน   ปัจจุบันเวียดนามแบ่งลักษณะของการจัดการศึกษาไว้ลักษณะ คือ 
      1. การศึกษาระดับก่อนประถมศึกษา (Pre-School Education)  ประกอบด้วยการเลี้ยงดูเด็ก สำหรับเด็กอายุ 6 เดือนถึง 3 ปี และอนุบาลสำหรับเด็กอายุ 3-5 ปี 
       2. การศึกษาสามัญ (5 - 4 – 3)
           • ระดับประถมศึกษาเป็นการศึกษาภาคบังคับ 5 ปี ชั้น 1-5 
           • ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น คือชั้น 6-9
           • ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย คือชั้น 10-12
       3. การศึกษาด้านเทคนิคและอาชีพ  มีเทียบเคียงทั้งระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย 
       4. การศึกษาระดับอุดมศึกษา  แบ่งเป็นระดับอนุปริญญา (Associate degree) และระดับปริญญา
       5. การศึกษาต่อเนื่อง  เป็นการศึกษาสำหรับประชาชนที่พลาดโอกาสการศึกษาในระบบสายสามัญและสายอาชีพ

        การศึกษาสามัญ 12 ปี (General Education) ของเวียดนามนั้นเวียดนามมีวัตถุประสงค์ที่จะ ให้ประชาชนได้มีวิญญาณในความเป็นสังคมนิยม มีเอกลักษณ์ประจำชาติ และมีความสามารถในด้านอาชีพ    ในอดีตการศึกษาสามัญของเวียดนามมีเพียง 10 ปีเท่านั้น และไม่มีอนุบาลศึกษามาก่อนจนถึงปีการศึกษา 2532 - 2533 จึงมีการศึกษาถึงชั้นปีที่ 9 ทั้งประเทศ ซึ่งได้เรียกการศึกษาสามัญ 9 ปี ดังกล่าวนี้ว่าการศึกษาขั้นพื้นฐาน (Basic Education) และเมื่อได้ขยายไปถึงปีที่ 12 แล้วจึงได้เรียกการศึกษาสามัญ 3 ปีสุดท้ายว่า มัธยมชั้นสูง (Upper Secondary School) ปี 2535-2536 ระบบการศึกษาสามัญในเวียดนามจึงกลายเป็นระบบ 12 ชั้นเรียนทั้งประเทศ โดยเด็กที่เข้าเรียนในชั้นปีที่ 1 จะมีอายุย่างเข้าปีที่ 6     เมื่อเวียดนามได้ใช้ระบบการศึกษาเป็น 12 ปีแล้ว จำนวนนักเรียนในทุกระดับชั้นยังมีน้อย ดังนั้นปี 2534 สภาแห่งชาติของเวียดนามจึงได้ออกกฎหมายการกระจายการศึกษาระดับประถมศึกษา (Law of Universal Primary Education) ซึ่งถือเป็นกฎหมายฉบับแรกว่าด้วยการศึกษาของเวียดนาม

        ปัญหาจากวิธีการศึกษาของคนเวียดนามในปัจุบัน  เขียนโดยสิริวงษ์ หงษ์สวรรค์  อาจารย์สอนภาษาเวียดนาม ประจำสาขาวิชาภาษาและวรรณคดีตะวันออก คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี  สรุปความได้ว่า  แม้ว่าครอบครัวของเวียดนามเกือบทุกครอบครัว จะให้ความสำคัญกับการศึกษาเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการลงทุนเรื่องการศึกษาของลูกอย่างไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันการศึกษาของเวียดนามก็ยังประสบปัญหาอยู่ เนื่องจากหลักสูตรการเรียนของเวียดนามตั้งแต่ระดับประถมศึกษาจนถึงระดับ มหาวิทยาลัยจะเน้นการเรียนการสอนแบบให้ผู้เรียนต้องเรียนแบบ Hc vt. (ห็อก แหว็ต) แปลว่า "เรียนแบบนกแก้วหมายถึง เรียนแบบท่องจำ ถ้าเทียบแล้วก็เหมือนกับไทยเราในสมัยก่อนที่เน้นให้ผู้เรียนท่องจำแบบนกแก้ว นกขุนทอง แต่ไม่สามารถเอาไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ ประมาณว่าท่องจำเก่งอย่างเดียว แต่ถ้าให้ปรับใช้หรือถามคำถามที่ให้ตอบแบบไม่ได้ให้ตอบตรงประเด็น แต่ให้ตอบแบบการนำไปใช้ ผู้เรียนจะไม่สามารถตอบคำถามได้เลย เพื่อนเวียดนามบางคนบอกผู้เขียนว่า การที่นักเรียนเวียดนามได้รับรางวัลคณิตศาสตร์โอลิมปิคนั้น เป็นเพราะว่านักเรียนเหล่านั้นท่องจำเก่ง จำสูตรคณิตศาสตร์ได้แม่นยำทุกสูตร ถ้าใช้ศัพท์ภาษาอังกฤษก็จะเรียกว่า จำกันได้เป็นแพ็ทเทิร์นเลย และคณิตศาสตร์นั้นได้ซึมซับอยู่ในตัวของคนเวียดนามมานาน  เริ่มตั้งแต่เมื่อเวียดนามเปิดประเทศและเริ่มทำการค้าขายเป็นหลัก ดังนั้น การเรียนการสอนแบบคณิตคิดเร็วจึงถูกสั่งสมอยู่ในความคิดของเวียดนามตามรูป แบบของการเรียนแบบท่องจำ กล่าวคือต้องแม่นยำในตัวเลขและข้อมูลเป็นหลักด้วย
        

          อย่างไรก็ตาม การเรียนแบบท่องจำให้เก่งนั้นอาจจะได้ผลดีในบางด้าน อย่างเช่นการเรียนคณิตศาสตร์ของคนเวียดนาม เป็นต้น แต่อาจจะไม่สามารถเอาไปใช้ในการเรียนในสาขาอื่นๆ เพราะในปัจจุบันเกิดปัญหาว่า นักศึกษาที่เรียนจบมหาวิทยาลัยและได้คะแนนสูงๆ นั้น เก่งเพราะท่องจำเก่งอย่างเดียว แต่เมื่อเริ่มต้นทำงาน ไม่สามารถที่จะทำงานได้ ต้องเริ่มต้นใหม่ ต้องเรียนรู้ใหม่ เพราะไม่สามารถนำความรู้ที่ตัวเองได้รับในช่วงที่เรียนมหาวิทยาลัยมาปรับใช้ ในการทำงาน รวมทั้งการใช้ชีวิตประจำวันได้ ปัญหาดังกล่าว เกิดมาจาก การที่หลักสูตรการเรียนของเวียดนามยังเน้นทฤษฎีมากกว่าปฏิบัติ หรืออาจจะมีการฝึกปฏิบัติ แต่ปฏิบัติค่อนข้างน้อย ดังนั้น เมื่อเรียนทฤษฎีเป็นหลัก ผู้เรียนจึงต้องเรียนแบบท่องจำเป็นส่วนใหญ่ โดยไม่สามารถอธิบายได้ว่า ข้อเท็จจริงของเนื้อหาที่เรียนนั้นคืออะไร เพื่อนเวียดนามของผู้เขียนให้ข้อมูลว่า การเรียนแบบท่องจำหรือห็อกแหว็ตนี้ เรียกได้ว่าเป็นโรคร้ายชนิดหนึ่งของการศึกษาของเวียดนามในปัจจุบันนี้เลยก็ ว่าได้ แม้ว่ากระทรวงการศึกษาและการฝึกอบรมของเวียดนามจะรับทราบปัญหาดังกล่าวแต่ก็ ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ นักศึกษาหลายคนที่เรียนจบมหาวิทยาลัยไม่สามารถนำความรู้ที่ได้จากการเรียนใน สาขาของตนไปประยุกต์ใช้ในการทำงาน ดังนั้น จึงจำเป็นต้องเสียเวลาเพื่อไปเรียนปริญญาตรีอีกใบเพื่อให้สอดคล้องกับการทำ งานของตน แทนที่จะยกระดับของตนโดยการเรียนปริญญาโท แต่กลับต้องใช้เวลาเรียนปริญญาตรีเพิ่มอีกหนึ่งใบในอีกสาขาวิชาหนึ่ง


         ปัญหาข้างต้นมีส่วนมาจากการอบรมสั่งสอนของพ่อแม่ตั้งแต่ในวัยเด็ก ในขณะที่เรียนระดับประถมศึกษา กล่าวคือ เน้นสอนให้ลูกเรียนเก่งและได้คะแนนสูงๆ แต่ไม่ได้สนใจในเรื่องของการนำไปใช้ ความคิดดังกล่าวได้รับอิทธิพลมาตั้งแต่สมัยศักดินา เพราะมีความคิดกันว่าต้องเรียนเก่งเพื่อจะได้ประกอบอาชีพรับราชการ เป็นเจ้าคนนายคน และเน้นความร่ำรวยเป็นหลัก ความคิดดังกล่าวได้ส่งผลมาถึงปัจจุบันคือ เรียนเก่งเพื่อจะได้ทำงานดีๆ และหาเงินใช้ได้ เนื่องจากในปัจจุบัน หน่วยงานต่างๆ ในเวียดนามหากคนเวียดนามที่ไปสมัครงานไม่ใช่ Con ông cháu cha (กอน อง เจ๋า จา) หมายถึง ลูกท่านหลานเธอ โอกาสที่จะได้ทำงานดีๆ ได้รับเงินเดือนสูงๆ มีค่อนข้างน้อยหากได้คะแนนสะสมหลังจากที่สำเร็จการศึกษาไม่ค่อยดี ดังนั้น ในปัจจุบัน คนเวียดนามจึงเน้นให้ลูกของตนเรียนให้เก่งๆ ให้ได้คะแนนสูงๆ เพื่อที่จะหางานทำได้ เพราะมีความคิดดังนี้
         1. เน้นเรื่องของความเก่ง แต่ไม่ได้เน้นเรื่องความรู้ที่ได้รับหลังจากที่สำเร็จการศึกษาไปแล้ว
         2. คิดถึงผลประโยชน์ในเรื่องของการได้เงินเดือน มากกว่าความรู้ที่จะนำไปใช้ในการพัฒนาสังคมและองค์กร
         3. ไม่ได้สนใจเรื่องการมีความรู้เพื่อแสดงให้เห็นถึงความน่าเชื่อถือในสาขาที่ตนเองจบมา
         4. ขอให้เรียนสูงไว้ก่อน แต่ไม่ได้สนใจบทบาทหรือหน้าที่ที่ตนจะต้องรับผิดชอบต่อไปในสังคมและองค์กร


       เนื่องจากเวียดนามยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับการเรียนภาคปฏิบัติเท่าที่ควร ดังนั้น จึงก่อให้เกิดปัญหาที่ตามมาสำหรับผู้เรียนที่เรียนจบจากมหาวิทยาลัยใน เวียดนาม ดังนี้
       1. ไม่สามารถนำทฤษฎีที่ได้จากการเรียนไปประยุกต์ใช้ในการประกอบอาชีพ
       2. ไม่สามารถนำความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น ไม่ยอมรับความจริงเมื่อพ่ายแพ้หรือไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากในช่วงที่เรียนต้องเรียนให้เก่งและเอาชนะเพื่อนฝูงให้ได้ ทำให้ไม่รู้จักคำว่าพ่ายแพ้
        3. ไม่สามารถทำงานเป็นกลุ่มหรือทำงานร่วมกับคนอื่นได้ เพราะในช่วงที่เรียนขาดการปฏิบัติ เพราะการเรียนเน้นการท่องจำ ครูผู้สอนมอบหมายให้ทำงานเป็นกลุ่มก้อนกับเพื่อนในห้องเรียนน้อย
        4. ขาดทักษะในการบรรยายหรืออภิปรายต่อหน้าที่ชุมชน เพราะเน้นการเรียนแบบท่องจำและเรียนคนเดียวเป็นหลัก


        ปัญหาต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้น ถ้าเทียบกับของประเทศไทย ในความคิดของผู้เขียนเองแล้ว  เหมือนกับลอกกันมาเลย  ก็ขอฝากพวกเราทุกๆคน ช่วยกันคิดหาแนวทางแก้ไขให้ดีขึ้น ให้เด็กๆเรียนแล้วสามารถทำงานได้ เมื่อทำงานได้แล้วให้ใช้ชีวิตแบบพอเพียง คือพอประมาณ มีเหตุมีผล มีภูมิคุ้มกัน  มีความรู้ และมีคุณธรรม รวมความได้ว่าให้เด็กๆสามารถพัฒนาตนเองได้ และพัฒนาสังคมให้เจริญงอกงามได้ ในโอกาสวันปีใหม่  วันสงกรานต์ นี้  ขอให้ท่านผู้อ่านมีแรงใจร่างกายที่สมบูรณ์  สามารถช่วยกันพัฒนาระบบการศึกษาของลูกๆหลานๆเราให้ดียิ่งๆขึ้นไป

ที่มา  http://www.chusak.net/index.php?mo=3&art=41974137

หมวด: อาเซียน (ASEAN) | Views: 1955 | เพิ่มโดย: jatuporn | Tags: การศึกษาของเวียดนาม | Rating: 0.0/0
คอมเม้นทั้งหมด: 1
avatar
0
1 สิริวงษ์ หงษ์สวรรค์ • 22:46:27, 27 December 2013
ขอบคุณมากค่ะที่นำผลงานของตนเองมาอ้างอิงและช่วยแบ่งปันความรู้ให้ผู้อ่านท่านอื่น
ComForm">
avatar