สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) (Association of Southeast Asian Nations – ASEAN) การก่อตั้ง - สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน ก่อตั้งขึ้นโดยปฏิญญา กรุงเทพฯ (Bangkok Declaration) ซึ่งลงนามโดยรัฐมนตรีของ 5 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2510 ต่อมาประเทศบรูไน ดารุสซาลาม เข้าเป็น สมาชิกประเทศที่ 6 เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2527 เวียดนามเข้าเป็นสมาชิกประเทศที่ 7 เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2538 ลาวและพม่าเข้าเป็นสมาชิกประเทศที่ 8 และ 9 ตามลำดับ เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2540 และกัมพูชาเป็นสมาชิกประเทศที่ 10 เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2542
- อาเซียนปัจจุบันประกอบด้วยประชากรรวมกันประมาณ 500 ล้านคน ครอบคลุมพื้นที่ 4.5 ล้านตารางกิโลเมตร
วัตถุประสงค์
วัตถุประสงค์ของการก่อตั้งสมาคมอาเซียน ตามปฏิญญากรุงเทพฯ คือ - เพื่อส่งเสริมความร่วมมือ และความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม เทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ และการบริหาร
- เพื่อส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคงส่วนภูมิภาค
- เพื่อเสริมสร้างความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจและพัฒนาการทางวัฒนธรรม ในภูมิภาค
- เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนในอาเซียนมีความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตที่ดี
- เพื่อให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในรูปของการฝึกอบรมและการวิจัย และส่งเสริม การศึกษาด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
- เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการเกษตรและอุตสาหกรรม การขยายการค้า ตลอดจน การปรับปรุงการขนส่งและการคมนาคม
- เพื่อเสริมสร้างความร่วมมืออาเซียนกับประเทศภายนอก องค์การความร่วมมือ แห่งภูมิภาคอื่น ๆ และองค์การระหว่างประเทศ
โครงสร้างของอาเซียน โครงสร้างของอาเซียนจะประกอบด้วยส่วนสำคัญ ดังนี้ - สำนักเลขาธิการอาเซียน (ASEAN Secretariat) สำนักเลขาธิการอาเซียนได้จัดตั้งขึ้นตามข้อตกลงที่ลงนามโดยรัฐมนตรีต่างประเทศ อาเซียนในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 1 ในปี 2519 เพื่อทำหน้าที่ประสานงานและ ดำเนินงานตามโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ ของสมาคมอาเซียน และเป็นศูนย์กลางในการติดต่อระหว่าง สมาคมอาเซียน คณะกรรมการ ตลอดจนสถาบันต่าง ๆ และรัฐบาลของประเทศสมาชิก
สำนักเลขาธิการอาเซียนตั้งอยู่ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย โดยมีหัวหน้า สำนักงานเรียกว่า "เลขาธิการอาเซียน” ซึ่งเมื่อเดือนกรกฎาคม 2545 ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศ อาเซียน ครั้งที่ 35 ได้แต่งตั้งนาย Ong Keng Yong” ชาวสิงคโปร์ เป็นเลขาธิการอาเซียนคนใหม่แทนนาย Rodolfo C. Severino Jr. เลขาธิการอาเซียนคนปัจจุบัน โดยจะมีวาระในการดำรงตำแหน่ง 5 ปี (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2546) และมีรองเลขาธิการอาเซียนจำนวน 2 คน คือ Dr. Wilfrido V. Villacorta ชาวฟิลิปปินส์ และ Pengiran Mashor Pengiran Ahmad ชาวบรูไนฯ โดยจะมีวาระในการดำรงตำแหน่ง 3 ปี (ระหว่างปี 2546-2549) - สำนักงานอาเซียนแห่งชาติ หรือกรมอาเซียน (ASEAN National Secretariat) เป็นหน่วยงานในกระทรวงการต่างประเทศของประเทศสมาชิก ซึ่งแต่ละประเทศ ได้จัดตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่รับผิดชอบประสานงานเกี่ยวกับอาเซียนในประเทศนั้น ๆ และติดตามผล ของการดำเนินกิจกรรม/ความร่วมมือต่าง ๆ สำหรับประเทศไทยนั้น ได้มีการจัดตั้งกรมอาเซียน ให้มีหน้าที่รับผิดชอบในการปฏิบัติงานด้านอาเซียนดังกล่าว
กลไกในการกำหนดนโยบายและการดำเนินงาน - การประชุมระดับหัวหน้ารัฐบาลอาเซียนหรือการประชุมสุดยอดอาเซียน (The Meeting of the ASEAN Heads of State/Government – ASEAN Summit)
การประชุมหัวหน้ารัฐบาลอาเซียนเป็นกลไกสูงสุดในการกำหนดนโยบายและแนวทาง ความร่วมมือของอาเซียน โดยนับตั้งแต่มีการจัดตั้งสมาคมอาเซียนเป็นต้นมาได้มีการประชุมสุดยอด อาเซียนอย่างเป็นทางการไปแล้วรวม 8 ครั้ง คือ พ.ศ. 2519 ณ ประเทศอินโดนีเซีย พ.ศ. 2520 ณ ประเทศมาเลเซีย พ.ศ. 2530 ณ ประเทศฟิลิปปินส์ สำหรับการประชุมครั้งที่ 4 ได้มีขึ้นใน พ.ศ. 2535 ณ ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งในครั้งนั้น ที่ประชุมได้มีมติให้จัดการประชุมสุดยอดอาเซียนอย่าง เป็นทางการทุก ๆ 3 ปี การประชุมครั้งที่ 5 ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นเมื่อวันที่ 14-15 ธันวาคม 2538 ณ กรุงเทพฯ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ผู้นำของประเทศทั้ง 10 ประเทศในภูมิภาคได้มี โอกาสมาพบปะกันอย่างพร้อมเพรียง โดยได้มีการประชุมร่วมกันระหว่างผู้นำอาเซียน 7 ประเทศ กับผู้นำรัฐบาลกัมพูชา ลาว และพม่า และที่ประชุมฯ ยังได้มีมติให้มีการพบปะหารือระหว่างผู้นำ รัฐบาลอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการในระหว่างที่ไม่มีการประชุมสุดยอดอาเซียนด้วย การประชุมครั้งที่ 6 ณ ประเทศเวียดนาม เมื่อเดือนธันวาคม 2541 ซึ่งได้มีการร่วมลงนามในเอกสารสำคัญ คือ Hanoi Declaration, Hanoi Plan of Action, Statement on Bold Measures ฯลฯ การประชุมครั้งที่ 7 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 5-6 พฤศจิกายน 2544 ณ บันดาร์ เสรี เบกาวัน ประเทศบรูไน ดารุสซาลาม ซึ่งได้มี การร่วมลงนามในเอกสารสำคัญคือ ปฏิญญาอาเซียน ค.ศ. 2001 ว่าด้วยการดำเนินการร่วมในการต่อต้านการก่อการร้ายและปฏิญญาการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 7 เกี่ยวกับโรคเอดส์ และการประชุม สุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 8 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 4-5 พฤศจิกายน 2545 ณ กรุงพนมเปญ
นอกจากนี้ ได้มีการประชุมสุดยอดอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (ASEAN Informal Summit) ครั้งที่ 1 เมื่อพ.ศ. 2539 ณ กรุงจาการ์ตา ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 14-16 ธันวาคม 2540 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2542 ณ กรุงมะนิลา และครั้งที่ 4 ระหว่าง วันที่ 24-25 พฤศจิกายน 2543 ณ สิงคโปร์
ในการประชุมสุดยอดอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ ครั้งที่ 4 ที่สิงคโปร์ ที่ประชุมได้ เห็นชอบที่จะเรียกการประชุมครั้งต่อไปว่า "การประชุมสุดยอดอาเซียน (ASEAN Summit) ซึ่งจะมี การประชุมทุกปี ทั้งนี้ ให้เน้นการหารือที่เป็นสาระและลดขั้นตอนด้านพิธีการ โดยการประชุมสุดยอด อาเซียนเมื่อวันที่ 5-6 พฤศจิกายน 2544 ณ ประเทศบรูไน ดารุสซาลามจัดเป็นการประชุมสุดยอด อาเซียน ครั้งที่ 7 และจะเรียงตามลำดับครั้งทุกปีไป - การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน (ASEAN Ministerial Meeting – AMM)
เป็นการประชุมประจำปีของรัฐมนตรีต่างประเทศของอาเซียน และอาจจัดให้มีการ ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนสมัยพิเศษ (ASEAN Foreign Ministers’ Retreat) ขึ้นได้ตาม ความจำเป็น เพื่อรับผิดชอบในการกำหนดแนวทางในระดับนโยบายและทำหน้าที่ทบทวนข้อตัดสินใจ ต่าง ๆ มอบนโยบายและโครงการให้คณะกรรมการประจำอาเซียนหรือคณะกรรมการอื่น ๆ ดำเนินการต่อไป นอกจากนี้ รัฐมนตรีต่างประเทศจะเป็นผู้ลงนามในความตกลงที่เกี่ยวกับความร่วมมือด้านต่าง ๆ ของอาเซียนด้วย การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน สมัยที่ 35 จัดขึ้นที่บันดาร์ เสรี เบกาวัน ประเทศบรูไน ดารุสซาลาม เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม- 1 สิงหาคม 2545 และการประชุมรัฐมนตรี ต่างประเทศอาเซียน สมัยที่ 36 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-19 มิถุนายน 2546 ที่กรุงพนมเปญ - การประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกับรัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศ คู่เจรจา (Post Ministerial Conferences – PMC)
ภายหลังการประชุม AMM ในแต่ละปี รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนจะร่วมประชุมกับ รัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศคู่เจรจา ร่วมและแยกเป็นรายประเทศ เพื่อหารือในเรื่องความร่วมมือ และความช่วยเหลือในโครงการต่าง ๆ ตลอดจนแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในระดับนโยบายเกี่ยวกับ ปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ การเมืองและความมั่นคงที่มีความสนใจร่วมกันกับประเทศคู่เจรจาดังกล่าว - การประชุมระดับรัฐมนตรีในสาขาอื่น ๆ ประกอบด้วย
- การประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Ministers-AEM) ซึ่งจะหารือและพิจารณาร่วมกันเกี่ยวกับกิจกรรมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ ทั้งในระดับภายในภูมิภาค และกับประเทศนอกกลุ่มเป็นประจำอย่างน้อยปีละครั้ง
- การประชุมคณะมนตรีเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA Council) ซึ่งเป็นผล จากการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 4 ที่ให้มีการกำกับดูแล ประสานงาน และทบทวนการดำเนินการ ตามความตกลงว่าด้วยโครงการลดภาษีศุลกากรให้เป็นอัตราเดียวกันสำหรับเขตการค้าเสรีอาเซียน โดยคณะมนตรีฯ ดังกล่าวจะรายงานต่อรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน
- การประชุมคณะมนตรีเขตการลงทุนอาเซียน (AIA Council) ที่จัดตั้งขึ้น เพื่อกำกับ ดูแล ประสาน และทบทวนการดำเนินงานตามความตกลงจัดตั้งเขตการลงทุนอาเซียน (ASEAN Investment Area)
- การประชุมรัฐมนตรีเฉพาะด้าน (Sectoral ASEAN Ministers’ Meeting) จัดขึ้นเป็นประจำเพื่อกำหนดแนวนโยบายและเร่งรัดการดำเนินกิจกรรมของคณะกรรมการอาเซียน ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งริเริ่มโครงการความร่วมมือในด้านต่าง ๆ อาทิ ด้านการเกษตรและป่าไม้ ด้านพลังงาน ด้านสังคม การพัฒนาชนบท ด้านการศึกษา ด้านกฎหมาย ด้านแรงงาน ด้านสาธารณสุข ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสารนิเทศ ฯลฯ
การประชุมในระดับคณะเจ้าหน้าที่
- ด้านการเมือง คณะเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียน (ASEAN Senior Officials Meeting – SOM) ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงการต่างประเทศของอาเซียน ทำหน้าที่ดูแลความร่วมมือของอาเซียนด้านการเมืองและความมั่นคง รวมถึงประเด็นสำคัญอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการเมือง
- ด้านเศรษฐกิจ คณะเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจ (ASEAN Senior Economic Officials Meeting – SEOM) ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงที่รับผิดชอบงานเศรษฐกิจของอาเซียน ทำหน้าที่ดูแลความร่วมมือของอาเซียนด้านเศรษฐกิจ
- คณะกรรมการประจำอาเซียน (ASEAN Standing Committee – ASC) คณะกรรมการประจำอาเซียนประกอบด้วยเลขาธิการอาเซียนและอธิบดีกรมอาเซียนของแต่ละประเทศ สมาชิก ทำหน้าที่ดูแลดำเนินงาน ติดตามผล และพิจารณาทบทวนการปฏิบัติงานของอาเซียน เพื่อให้ เกิดความต่อเนื่องและอาจตัดสินใจในเรื่องเร่งด่วนได้ คณะกรรมการประจำอาเซียนนี้ ถือเป็นศูนย์กลาง ในการประสานงาน ดูแลรับผิดชอบงานด้านต่าง ๆ ทั้งนี้ โดยปกติจะมีการประชุมคณะกรรมการประจำ อาเซียนปีละ 4-5 ครั้ง ซึ่งประเทศที่เป็นประธานคณะกรรมการประจำอาเซียนจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ASC ครั้งแรกและครั้งสุดท้าย นอกนั้นจะจัดขึ้นที่สำนักเลขาธิการอาเซียน
- ด้านการคลัง คณะเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการคลังอาเซียน (ASEAN Deputy Finance and Central Bankers Meeting – AFDM) ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงการคลังหรือผู้แทน
-เฉพาะด้าน เช่น คณะเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านยาเสพติด (ASEAN Senior Officials Meeting on Drugs Matters – ASOD) ด้านสิ่งแวดล้อม (ASEAN Senior Officials on the Environment – ASOEN) คณะกรรมการอาเซียนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ASEAN Committee On Science and Technology – COST) คณะเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านสวัสดิการสังคมและการพัฒนา (ASEAN Senior Official on Social Welfare – SWD) คณะกรรมการอาเซียนด้านวัฒนธรรมและสนเทศ (ASEAN Committee on Culture and Information – COCI) คณะเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการพัฒนาชนบทและการแก้ไขปัญหาความยากจน (Senior Officials Meeting on Rural Development and Poverty Eradication – SOMRDPE) ฯลฯ 4.5.6 การประชุมร่วมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนกับอธิบดีอาเซียน (Joint Committee Meeting – JCM) เป็นการประชุมร่วมระหว่างเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียน เจ้าหน้าที่อาวุโสฝ่ายเศรษฐกิจ และคณะกรรมการประจำอาเซียน (อธิบดีกรมอาเซียน) ที่จัดขึ้นเพื่อเตรียมการประชุมสุดยอดอาเซียนในแต่ละปี ทั้งด้านสารัตถะและพิธีการ
ความสัมพันธ์กับประเทศภายนอก (External Relations)
นอกจากความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกด้วยกันแล้ว อาเซียนยังได้มีความร่วมมือและสถาปนาความสัมพันธ์ในฐานะคู่เจรจากับ 10 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ อินเดีย จีน รัสเซีย และกับจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ในกรอบอาเซียน+3 และโครงการเพื่อการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) แต่ละประเทศสมาชิก อาเซียนจะแบ่งกันทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาเหล่านี้ โดยจะมี การผลัดเปลี่ยนกันทุก ๆ 3 ปี ทั้งนี้ ในช่วงเดือนมิถุนายน 2546 จนถึงช่วงกลางปีของปี 2549 จะเป็นไปตามนี้
- บรูไน ประสานงานระหว่างอาเซียนกับแคนาดา - กัมพูชา ประสานงานระหว่างอาเซียนกับจีน - อินโดนีเซีย ประสานงานระหว่างอาเซียนกับสหภาพยุโรป - ลาว ประสานงานระหว่างอาเซียนกับอินเดีย - มาเลเซีย ประสานงานระหว่างอาเซียนกับญี่ปุ่น - พม่า ประสานงานระหว่างอาเซียนกับสาธารณรัฐเกาหลี - ฟิลิปปินส์ ประสานงานระหว่างอาเซียนกับนิวซีแลนด์ - สิงคโปร์ ประสานงานระหว่างอาเซียนกับรัสเซีย - ไทย ประสานงานระหว่างอาเซียนกับสหรัฐฯ - เวียดนาม ประสานงานระหว่างอาเซียนกับออสเตรเลีย
โดยอาเซียนได้มีการปรึกษาหารืออย่างสม่ำเสมอกับประเทศคู่เจรจาเหล่านี้ในลักษณะการประชุมระดับ เจ้าหน้าที่ และการพบปะกันในระดับรัฐมนตรีในการประชุมที่เรียกว่า Post Ministerial Conferences (PMC) ซึ่งจะมีขึ้นภายหลังการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนในทุกปี รวมทั้งการประชุมระดับผู้นำอาเซียน+3 และอาเซียน+1 (จีน ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี) และการประชุมสุดยอดอาเซียน-อินเดีย ซึ่งมีขึ้นภายหลังการประชุมสุดยอดอาเซียนในช่วงปลายปีของทุกปี
นอกจากนี้ เพื่อเป็นการสนับสนุนการดำเนินงานความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับ ประเทศคู่เจรจาและองค์การระหว่างประเทศ อาเซียนได้จัดตั้งคณะกรรมการในนครหลวงของประเทศ คู่เจรจา ที่เรียกว่า คณะกรรมการอาเซียนในประเทศที่สาม (ASEAN Committee in Third Country) คณะกรรมการเหล่านี้ประกอบด้วยหัวหน้าคณะผู้แทนทางการทูตของประเทศสมาชิกอาเซียนในประเทศ เจ้าภาพ มีหน้าที่ในการปรึกษาหารือและประสานงานกับรัฐบาลประเทศคู่เจรจาเกี่ยวกับความช่วยเหลือ และความร่วมมือที่ให้แก่ประเทศอาเซียน
ความร่วมมือด้านต่าง ๆ ในอาเซียน
เมื่อมองย้อนหลังในอดีต ประเทศไทยมีบทบาทที่สำคัญในการนำไปสู่การก่อตั้งสมาคม ความร่วมมือในภูมิภาคนี้ เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศผู้ใกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างประเทศที่เกิดขึ้น ก่อนหน้าการก่อตั้งสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน เมื่อปี 2510 จนกระทั่งทำให้ ประเทศคู่กรณีสามารถที่จะยุติข้อพิพาทดังกล่าว และหันหน้ามาร่วมมือกัน ผลพวงของการสร้างความ เข้าใจอันดี โดยมีไทยเป็นประเทศกลางที่มีบทบาทสำคัญ โดยเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2510 ประเทศใน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 5 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย ได้ร่วม ลงนามในปฏิญญากรุงเทพ (Bangkok Declaration) ประกาศจัดตั้งสมาคมอาเซียน โดยมีการลงนามที่ห้องเทววงศ์ กระทรวงการต่างประเทศ วังสราญรมย์ - ความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคง ในด้านการเมืองและความมั่นคง อาเซียนได้มุ่งเน้นความร่วมมือเพื่อธำรงรักษาสันติภาพและความมั่นคงของภูมิภาคตลอดมา โดยได้มี การจัดทำและผลักดันให้ทุกประเทศในภูมิภาคให้ความสำคัญและยึดมั่นในสนธิสัญญาไมตรีและความ ร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Treaty of Amity and Cooperation หรือ TAC) ปี ค.ศ. 1976 ซึ่งถือว่าเป็นเอกสารที่กำหนดแนวทางการปฏิบัติในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างกันในภูมิภาค ที่มุ่งเน้นการสร้างสันติภาพและความมั่นคง ความเจริญรุ่งเรืองด้านเศรษฐกิจ และความร่วมมือระหว่างกัน นอกจากนี้ อาเซียนได้ร่วมลงนามในเอกสารด้านการเมืองอื่น ๆ อาทิ ปฏิญญาว่าด้วยภูมิภาคเอเชีย ตะวันออกเฉียงใต้เป็นเขตแห่งสันติภาพ เสรีภาพและความเป็นกลาง (Zone of Peace, Freedom and Neutrality หรือ ZOPFAN) เมื่อปี ค.ศ. 1971 สนธิสัญญาเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ในภูมิภาคเอเชีย ตะวันออกเฉียงใต้ (Treaty on the Southeast Asian Nuclear Weapon-Free Zone หรือ SEANWFZ) ปี ค.ศ. 1995 รวมทั้งได้ริเริ่มการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคง ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ASEAN Regional Forum – ARF) อันประกอบด้วยประเทศสมาชิกอาเซียน ประเทศคู่เจรจา และประเทศผู้สังเกตการณ์ของอาเซียน เพื่อเสริมสร้างความไว้วางใจกันระหว่างประเทศ ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมฯ ครั้งแรกขึ้นที่กรุงเทพฯ เมื่อปี 2537 (ค.ศ. 1994)
- ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ จากการที่สถานการณ์ทางเศรษฐกิจโลกได้ เปลี่ยนไปภายหลังการเจรจาเปิดเสรีการค้ารอบอุรุกวัย และการแบ่งตลาดโลกออกเป็นกลุ่มภูมิภาค ไทยได้เห็นความจำเป็นที่จะต้องสร้างกลุ่มเศรษฐกิจในภูมิภาคเพื่อเสริมสร้างอำนาจต่อรองของ ประเทศในภูมิภาคและศักยภาพในการผลิต ในปี 2535 (ค.ศ. 1992) ประเทศไทย โดยอดีต นายกรัฐมนตรี ฯพณฯ นายอานันท์ ปันยารชุน ได้เสนอให้อาเซียนร่วมมือกันอย่างจริงจังในการเปิดเสรี การค้าระหว่างกัน โดยผลักดันให้มีการจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area – AFTA) เพื่อช่วยส่งเสริมการค้าภายในอาเซียนให้มีปริมาณเพิ่มมากขึ้น ลดต้นทุนการผลิตในสินค้า อุตสาหกรรมและดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ โดยประเทศสมาชิกเดิม 6 ประเทศได้ตกลงจะเร่งลดภาษีสินค้าในกรอบ AFTA ให้เร็วขึ้น โดยมีกำหนดลดภาษีสินค้าให้มีอัตราอยู่ที่ร้อยละ 0-5 ภายในปี 2545 (ค.ศ. 2002) นอกจากนี้ อาเซียนยังได้ตั้งเป้าที่จะลดภาษีสินค้าทั้งหมดลงมาอยู่ที่อัตราร้อยละ 0 ภายในปี ค.ศ. 2010 สำหรับสมาชิกเดิม และปี ค.ศ. 2015 สำหรับสมาชิกใหม่
ในเวลาต่อมา อาเซียนได้ขยายความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจเพิ่มเติมจาก AFTA เพื่อให้การรวมตัวทางเศรษฐกิจมีความสมบูรณ์แบบและมีทิศทางที่ชัดเจน โดยได้ขยายความ ร่วมมือไปสู่การค้าบริการและการเชื่อมโยงทางด้านอุตสาหกรรม เช่น การจัดตั้งเขตการลงทุนอาเซียน (ASEAN Investment Area – AIA) ซึ่งลงนามโดยรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนเมื่อเดือนตุลาคม 2541 มีจุดประสงค์เพื่อให้อาเซียนมีความได้เปรียบและดึงดูดการลงทุนจากภายนอกและภายในภูมิภาค โดยการเปิดการตลาด (market access) และให้การปฏิบัติเยี่ยงคนชาติ (national treatment) โดยมีการเร่งรัดให้ดำเนินการเรื่องนี้จากปี 2553 (ค.ศ. 2010) เป็นปี 2546 (ค.ศ. 2003) ยกเว้น เวียดนาม ลาว และกัมพูชาจะพยายามเปิดเสรีด้านการลงทุนไม่ช้ากว่าปี 2553 (ค.ศ. 2010) และขณะนี้ กำลังพิจารณาความเป็นไปได้ในการเร่งเปิดเสรีแก่นักลงทุนนอกอาเซียนให้เร็วขึ้นกว่าปี 2563 (ค.ศ. 2020) นอกจากนี้ อาเซียนยังได้ขยายขอบเขตความตกลง AIA ให้ครอบคลุมความร่วมมือด้านการค้าบริการ โดยมีการเจรจาเปิดเสรีการค้าบริการใน 7 สาขา (การขนส่งทางทะเล การขนส่งทางอากาศ การเงินการคลัง วิชาชีพธุรกิจ การก่อสร้าง การคมนาคม และการท่องเที่ยว) โดยมีเป้าหมายให้การเปิดเสรีครอบคลุมทุกสาขาบริการภายในปี 2020 นอกจากนี้ มีความร่วมมือด้านการเชื่อมเส้นทางด้านคมนาคมและการขนส่งสินค้าผ่านแดน รวมทั้งโครงการความร่วมมืออาเซียนด้านการพัฒนาลุ่มน้ำโขง เพื่อเป็นการส่งเสริมและเพิ่มพูนความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจของอาเซียนให้มีความแข็งแกร่งและ ครอบคลุมสาขาต่าง ๆ ให้มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ไทยมีบทบาทสำคัญในเรื่องการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจภายในอาเซียนให้มากขึ้น โดยได้เสนอให้มีการจัดทำความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกการขนส่งสินค้าผ่านแดนและข้ามแดน ซึ่งจะเอื้ออำนวยให้การขนส่งสินค้าภายในอาเซียนมีความคล่องตัว และช่วยส่งเสริมการดำเนินการในเรื่องเขตการค้าเสรีอาเซียน ซึ่งที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 6 เมื่อธันวาคม 2541 ได้มีการลงนามในกรอบความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกการขนส่งสินค้าผ่านแดนแล้ว
ในด้านความร่วมมือด้านการคลัง ภายหลังจากเกิดวิกฤตการณ์ด้านการเงินและ เศรษฐกิจในภูมิภาค อาเซียนได้เสริมสร้างการหารือระหว่างกัน และจัดตั้งกลไกตรวจสอบในภูมิภาค (regional surveillance mechanism) รวมทั้งร่วมมือกับนานาประเทศเพื่อพิจารณาปรับโครงสร้าง การเงินระหว่างประเทศ (international financial architecture) - ความร่วมมือด้านสังคม ความร่วมมือทางด้านสังคมหรือความร่วมมือ เฉพาะด้าน (Functional Cooperation) ของอาเซียน เป็นความร่วมมือด้านอื่น ๆ ที่มิใช่ด้านการเมือง และเศรษฐกิจ ซึ่งมี 5 ด้าน ได้แก่ ด้านการพัฒนาสังคม ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านยาเสพติด และด้านวัฒนธรรมและสนเทศ โดยมีคณะกรรมการต่าง ๆ ทำหน้าที่ดูแลรับผิดชอบ เพื่อให้การดำเนินกิจกรรม/โครงการต่าง ๆ ของอาเซียนที่เกี่ยวข้องสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี การส่งเสริม พัฒนาการความร่วมมือในด้านดังกล่าวนับเป็นวัตถุประสงค์เบื้องต้นประการหนึ่งของอาเซียนเพื่อ ส่งเสริมให้ประชาชนในอาเซียนมีความเป็นอยู่และมีคุณภาพชีวิตที่ดีทัดเทียมกับประชาชนในประเทศ ที่พัฒนาแล้ว ในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 5 ที่ประชุมได้ลงนามร่วมกันใน "ปฏิญญากรุงเทพ ปี 2538” (the 1995 Bangkok Declaration) เพื่อประกาศเจตจำนงที่จะให้มีการยกระดับความร่วมมือ เฉพาะด้านให้ทัดเทียมกับความร่วมมือทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจของอาเซียน อาเซียนได้ให้ ความสำคัญเป็นอย่างมากในเรื่องการยกระดับความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อให้ประชาชน ตระหนักถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของการคุ้มครองและ อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รวมทั้งการพัฒนาที่ยั่งยืน นอกจากนี้ ความร่วมมือทางด้านวัฒนธรรมและสนเทศ ของอาเซียนนับเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยเสริมสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างประชาชนชาวอาเซียน ตลอดจน ปลุกจิตสำนึกในความเป็นอาเซียน (ASEAN Awareness)
ความร่วมมือทางด้านสังคมในกรอบอาเซียนได้พัฒนามาเป็นลำดับตามสภาพ แวดล้อม ความต้องการของประเทศสมาชิก และกระแสของโลกาภิวัตน์ ซึ่งเป็นผลให้อาเซียนมีการ จัดตั้งกลไกความร่วมมือในภูมิภาคเพื่อสนองต่อการเปลี่ยนแปลงและความจำเป็นที่จะต้องมีการร่วมมือ กันในระดับภูมิภาค ได้แก่ การพัฒนาชนบทและการขจัดความยากจน โครงข่ายรองรับทางสังคม อาชญากรรมข้ามชาติ และสวัสดิการสังคมและการพัฒนาสังคม ทั้งนี้ เพื่อมุ่งผลักดันให้อาเซียนบรรลุ เป้าหมายในการเป็นสังคมที่เอื้ออาทรต่อกันตามวิสัยทัศน์อาเซียน ค.ศ. 2020 (พ.ศ. 2563)
ไทยเล็งเห็นความสำคัญของการร่วมมือด้านสังคมเพื่อสันติสุขในภูมิภาค จึงผลักดันให้อาเซียนกระชับความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาข้ามชาติ อาทิ อาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ปัญหายาเสพติดและการฟอกเงิน โรคเอดส์ การลักลอบเข้าเมือง รวมทั้ง ความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การแก้ไขปัญหาหมอกควัน เป็นต้น นอกจากนั้น ไทยยังได้เสนอให้มีการจัดตั้งมูลนิธิอาเซียน (ASEAN Foundation) เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนนักศึกษาและนักวิชาการ ตลอดจนการเข้ามามี ส่วนร่วมของประชาชนในกิจกรรมต่าง ๆ ของอาเซียน ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างจิตสำนึกในความเป็นอาเซียน และการให้ความสำคัญต่อเรื่องการจัดทำโครงข่ายรองรับทางสังคม (Social Safety Nets) เพื่อบรรเทา ผลกระทบทางด้านสังคมจากวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะในปัญหาความยากจน การว่างงาน ปัญหาเด็กนอกโรงเรียนและผู้ยากไร้
นอกจากนี้ ไทยยังมีนโยบายในอันที่จะพยายามกระตุ้นให้อาเซียนเป็นสังคมเปิดและมีความเอื้ออาทร มีจิตสำนึกในความเป็นชุมชนหนึ่งเดียว ไทยได้เสริมสร้างความไพบูลย์มั่งคั่งร่วมกัน โดยการพัฒนามนุษย์โดยรวม (Total Human Development) เพื่อสนับสนุนการพัฒนาสังคมในระยะยาว การสร้างผู้นำรุ่นใหม่ในภูมิภาค โดยใช้การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (HRD) เป็นกลไกในการลดช่องว่าง ระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน และส่งเสริมการรวมตัวของอาเซียน
เมื่อเดือนกรกฎาคม 2544 ที่ผ่านมา ไทยได้ผลักดันให้อาเซียนมีมติรับรอง ให้ปี พ.ศ. 2545-2546 เป็นปีแห่งการปลุกจิตสำนึกในการต่อต้านยาเสพติดในอาเซียน และสนับสนุนให้ที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 7 เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2544 รับรองปฏิญญาที่ประชุม สุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 7 ว่าด้วยโรคเอดส์ เนื่องจากปัญหาทั้งสองได้ก่อให้เกิดความสิ้นเปลืองทรัพยากรแก่ประเทศไทยในการแก้ไขเป็นจำนวนมาก และจำเป็นที่จะต้องได้รับความร่วมมือระดับภูมิภาคในการควบคุมปัญหาดังกล่าวให้มีผลสัมฤทธิ์อย่างมีประสิทธิผล
ความร่วมมือทางสังคมได้เอื้อประโยชน์ต่อการพัฒนาในประเทศไทยเป็น จำนวนมาก และส่งเสริมให้มีบรรยากาศแห่งความร่วมมือกันเพื่อการพัฒนา ซึ่งสะท้อนไปสู่การมี เสถียรภาพ สันติสุข และความก้าวหน้าในภูมิภาค
วิสัยทัศน์อาเซียน ปี 2020 และแผนปฏิบัติการฮานอย ในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ ครั้งที่ 2 เมื่อเดือนธันวาคม 2540 (ค.ศ. 1997) ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ไทยเป็นผู้ริเริ่มให้ผู้นำรัฐบาลอาเซียนรับรองเอกสาร วิสัยทัศน์อาเซียน ค.ศ. 2020 (ASEAN Vision 2020) ในโอกาสครบรอบ 30 ปี การก่อตั้งอาเซียนโดยวิสัยทัศน์ดังกล่าวได้กำหนดทิศทางและเป้าหมายของการดำเนินการในด้านต่าง ๆ ให้ครอบคลุมทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม รวมทั้งการดำเนินความสัมพันธ์กับประเทศภายนอก ประเด็นสำคัญที่ไทยผลักดันจนสำเร็จ ได้แก่ การบรรจุแนวความคิดที่ให้ประเทศสมาชิกอาเซียนพัฒนาเป็นสังคมที่เปิดกว้าง (open societies) และเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ (people participation) โดยอาเซียนได้จัดทำแผนปฏิบัติการสำหรับวิสัยทัศน์อาเซียน ค.ศ. 2020 (Hanoi Plan of Action to Implement the ASEAN Vision 2020) ในระหว่าง การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 6 เมื่อเดือนธันวาคม 2541
การจัดทำแผนปฏิบัติการฮานอยหรือ HPA ดังกล่าว เป็นพัฒนาการที่สำคัญยิ่งอีกก้าวหนึ่งของอาเซียน อันจะนำไปสู่ชุมชนอาเซียนที่เอื้ออาทรและมีความเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง ซึ่ง HPA จะนำเป้าหมายต่าง ๆ ภายใต้วิสัยทัศน์อาเซียน 2020 ไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรมภายในกำหนดเวลาที่ชัดเจน และมีการประเมินผลทุก 3 ปี โดยได้มีการกำหนดกิจกรรมและโครงการที่จะนำไปสู่เป้าหมายในด้านการเมือง เศรษฐกิจ และความร่วมมือเฉพาะด้าน (functional cooperation) ซึ่งรวมถึงเรื่องการพัฒนาสังคม วัฒนธรรมและสนเทศ ยาเสพติด สิ่งแวดล้อม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้มีผล เป็นรูปธรรม
ในด้านการเมือง แผนปฏิบัติการฮานอย มุ่งส่งเสริมให้ภูมิภาคนี้มีเสถียรภาพ เสรีภาพ เป็นกลาง เจริญก้าวหน้าและมีความมั่งคั่งร่วมกัน เพื่อสามารถเร่งระดมทรัพยากรไปในด้าน การพัฒนาประเทศและสร้างความเจริญผาสุกให้แก่ประชาชาน ในด้านเศรษฐกิจ เป็นการยืนยันความ มุ่งมั่นที่จะเปิดเสรีและร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนระหว่างกันเพื่อเผชิญกับวิกฤตการณ์ด้านเศรษฐกิจของภูมิภาค และในด้านสังคม ประเทศไทยได้เสนอโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ ในเรื่องโครงข่ายรองรับทางสังคมเพื่อปกป้องผู้ที่อ่อนแอและยากไร้ในสังคม การคุ้มครองสตรีและเด็ก การส่งเสริมความสามารถของครอบครัวและชุมชนในการดูแลผู้สูงอายุและผู้พิการ การป้องกันการแพร่กระจายของโรคเอดส์ การส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชน การควบคุมการลักลอบค้ายาเสพติด การร่วมมือป้องกันปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ การเปิดโอกาสให้ชนทุกระดับได้รับความเท่าเทียมกันในการได้รับการศึกษา การ ฝึกอบรมวิชาชีพการพัฒนาทักษะแก่สตรีให้สามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานได้ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และการพัฒนาสมรรถภาพของข้าราชการพลเรือนเพื่อสนองตอบต่อความต้องการของประชาชน บทบาทของไทยในช่วงที่ดำรงตำแหน่งประธาน ASC ในช่วงที่ไทยดำรงตำแหน่งประธาน ASC สมัยที่ 33 (กรกฎาคม 2542 - กรกฎาคม 2543) ไทยได้เน้นในเรื่องของการพัฒนาที่สมบูรณ์และยั่งยืน โดยนำประโยชน์สู่ประชาชน (Towards a Comprehensive Development Agenda) โดยได้พยายามผลักดันในเรื่องต่อไปนี้ - การเสริมสร้างการหารือร่วมกัน จากสภาวะการณ์ของโลกในปัจจุบันที่เข้าสู่ยุค โลกาภิวัตน์ได้ทำให้ประชาคมโลกสามารถรับทราบข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ระหว่างกันและกันได้อย่างรวดเร็วและครอบคลุมอย่างทั่วถึง ซึ่งล้วนแล้วแต่มีความเกี่ยวข้องกับประเทศต่าง ๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อม ทำให้ประเทศ/กลุ่มประเทศรวมถึงอาเซียน ต้องมีการปรับตัวให้ทันกับกระแสการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และพร้อมที่จะเผชิญกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น ไทยจึงเห็นว่าอาเซียนควรมีกลไกการหารือระหว่างกันที่ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความเข้าใจระหว่างกัน นโยบาย Flexible Engagement หรือ Enhanced Interaction ไม่มีวัตถุประสงค์ที่จะเข้าไปก้าวก่ายในกิจการภายในของประเทศสมาชิก แต่ สถานการณ์ได้แสดงให้เห็นว่า บางเรื่องที่มีผลกระทบต่ออาเซียนโดยรวมและส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของภูมิภาคควรได้รับการปรึกษาหารือร่วมกัน เป็นการเปิดโอกาสให้มีการให้คำปรึกษาในฐานะเพื่อน เพื่อรับฟังความคิดเห็นในหลาย ๆ ด้าน ในการนี้ ไทยได้ผลักดันการจัดตั้ง ASEAN Troika เพื่อเป็น กลไกในการเสริมสร้างการหารือและประสานงานในอาเซียนเพื่อเผชิญกับเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นใน ภูมิภาค นับได้ว่าเป็นการปรับปรุงการทำงานของอาเซียนให้มีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น
- การพัฒนากลไกระงับข้อพิพาทสำหรับภูมิภาค อาเซียนในอนาคตควรเป็นองค์กรที่มีกลไกการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจน เพื่อขจัดความขัดแย้งและสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน ทั้งนี้ โดยมุ่งพัฒนากรอบความร่วมมือที่อาเซียนมีอยู่ในปัจจุบัน อาทิ ตามสนธิสัญญา TAC ซึ่งมีกลไกคณะ อัครมนตรี (High Council) เพื่อการแก้ไขข้อพิพาทระหว่างประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน สมัยที่ 34 (23-24 กรกฎาคม 2544) อาเซียนได้ให้ความเห็นชอบระเบียบข้อบังคับสำหรับการดำเนินงานของกลไกดังกล่าว และกำลังเชิญชวนให้ประเทศคู่เจรจาของ อาเซียนเข้าเป็นภาคีในสนธิสัญญา TAC โดยในอนาคตหวังที่จะพัฒนา TAC ให้เป็นหลักในการดำเนินความสัมพันธ์ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกโดยรวม นอกจากนั้น ไทยสนับสนุนการจัดทำร่าง Regional Code of Conduct ในทะเลจีนใต้ เพื่อเป็นหลักการและแนวทางปฏิบัติระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและต้องใช้เวลา เนื่องจากต้องได้รับฉันทามติจากทุกประเทศ สำหรับ ARF นั้น ไทยมีความตั้งใจที่จะส่งเสริมให้อาเซียนมีบทบาทที่เข้มแข็งยิ่งขึ้นในกระบวนการ ARF เพื่อให้ ARF เป็นกลไกที่สามารถส่งเสริมความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างประเทศที่เข้าร่วมได้อย่างมีประสิทธิภาพและสามารถก้าวไปสู่การทูตเชิงป้องกัน (Preventive Diplomacy - PD)
- การเสริมสร้างความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงและ ความไม่แน่นอนด้านเศรษฐกิจ ไทยหวังว่าอาเซียนในอนาคตจะมีระบบเศรษฐกิจที่มีการรวมตัวอย่าง แข็งแกร่ง มีประสิทธิภาพและสามารถพึ่งพาตัวเอง ไทยได้พยายามผลักดันให้อาเซียนขยายมาตรการ เปิดเสรีทั้งในแนวดิ่งและแนวกว้าง (deepening and broadening) และเพิ่มการประสานนโยบายกัน อย่างใกล้ชิดมากขึ้น ควรยกระดับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ (Elevation of Economic Cooperation) โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการค้า การลงทุน การขนส่ง การเงิน และนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ไทยหวังว่าความร่วมมือของอาเซียนจะเน้นความร่วมมือด้านเศรษฐกิจของภูมิภาคแบบพลวัตร (dynamic economic region) ที่มุ่งปรับโครงสร้างด้านเศรษฐกิจและสังคมให้มีความโปร่งใส มีประสิทธิภาพ และสามารถ แข่งขันกับประชาคมโลก รวมทั้งการกระชับความร่วมมือด้านการเมืองและการประสานงานระหว่างประเทศต่าง ๆ ทั้งภายในและกับประเทศอื่น ๆ นอกภูมิภาคด้วย
- การพัฒนาด้านมนุษย์ อาเซียนในอนาคตควรให้ความสำคัญต่อการพัฒนามนุษย์โดยรวม (Total Human Development) โดยการยกระดับความเป็นอยู่ การศึกษา สาธารณสุข การเคารพสิทธิของประชาชนและยึดถือหลักประชาธิปไตย และตอบสนองความต้องการของประชาชน โดยเฉพาะในการพัฒนาความเป็นอยู่ การมีส่วนร่วม ความโปร่งใส ฯลฯ ทั้งนี้ ความร่วมมือด้านการศึกษาในระดับ ภูมิภาคที่เป็นรูปธรรมอาจมีการจัดทำเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน (ASEAN University Network) เพื่อเชื่อมโยงมหาวิทยาลัยของภูมิภาค และการพิจารณาจัดตั้งมหาวิทยาลัยเสมือน (ASEAN Virtual University) โดยใช้อินเตอร์เน็ตและเทคโนโลยีทันสมัย
- การประสานความร่วมมือในกรอบลุ่มน้ำโขง ในปัจจุบันความร่วมมือในการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำโขงมีการดำเนินงานในหลายกรอบ อาทิ ความร่วมมือภายใต้กรอบ Greater Mekong Sub-region-GMS ความร่วมมือระหว่างรัฐมนตรีเศรษฐกิจของอาเซียนและญี่ปุ่น (AMEICC) และความ ร่วมมือในเหลี่ยมเศรษฐกิจอื่น ๆ ไทยประสงค์ที่จะให้มีการประสานความร่วมมือระหว่างกรอบต่าง ๆ ดังกล่าวเพื่อให้มีทิศทางการพัฒนาที่มีประสิทธิภาพและใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และตอบสนองความต้องการของประเทศในภูมิภาคอย่างแท้จริง ในการนี้ ไทยได้ผลักดันให้สหประชาชาติประกาศให้ปี ค.ศ. 2000 - 2009 เป็น ทศวรรษแห่งการพัฒนาอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (Decade for Greater Mekong Sub-region Development)
- การรวมตัวของอาเซียน ทิศทางของอาเซียนในอนาคต แม้จะมีความแตกต่างด้านเชื้อชาติ ศาสนา ระดับการพัฒนา ระบบการปกครอง แต่อาเซียนควรมีความปรองดองและมีเอกภาพ เพื่อผลประโยชน์ของประชาชนในส่วนรวม ทั้งนี้ เอกภาพของอาเซียนจะต้องตั้งอยู่บนหลักของความถูกต้องและเคารพซึ่งกันและกัน ความยืดหยุ่น ความเอื้ออาทร และการมีส่วนร่วมของประชาชน ฯลฯ ตามเจตนารมย์ที่ไทยได้ระบุไว้ในวิสัยทัศน์อาเซียน ปี ค.ศ. 2020 ภายใต้หัวข้อ "Open and Caring Societies" รวมถึงการสนับสนุนการพัฒนาสังคมโดยการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (HRD) ซึ่งจะเป็นกลไกที่จะนำไปสู่การลดช่องว่างระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนและการรวมตัวของอาเซียนในระยะยาว และไทยผลักดันให้รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนลงนามในปฏิญญาร่วมว่าด้วยสังคมที่เป็นปึกแผ่นและ เอื้ออาทรในอาเซียน (Joint Declaration for a Socially Cohesive and Caring Society) ซึ่งเป็นเอกสาร ที่ครอบคุลมเจตนารมย์ด้านสังคมที่แสดงความมุ่งมั่นทางการเมืองของอาเซียนที่จะร่วมกันแก้ไขผลกระทบด้านสังคมจากวิกฤตการณ์ในภูมิภาค และการระดมเงินทุนจากต่างประเทศ
- ไทยได้เป็นประธานคณะทำงานเพื่อพิจารณากฎเกณฑ์ (criteria) การรับประเทศ คู่เจรจาใหม่ เนื่องจากอาเซียนได้ชะลอการพิจารณา (moratorium) เรื่องนี้ไว้ชั่วคราว และปัจจุบันมีประเทศ/กลุ่มประเทศที่ได้ยื่นเรื่องอย่างเป็นทางการเพื่อขอเป็นประเทศคู่เจรจาของอาเซียน 3 ประเทศ ได้แก่ ปากีสถาน เม็กซิโก และกลุ่มประเทศ Andean นอกจากนี้ มีประเทศที่ยื่นขอเป็นประเทศคู่เจรจาเฉพาะสาขา (sectoral dialogue) รวม 4 ประเทศ ได้แก่ อิหร่าน อียิปต์ ไต้หวัน และเม็กซิโก
- การพิจารณาปรับปรุงรูปแบบ หัวข้อการหารือ และทิศทางของการหารือระหว่าง รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนและรัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศคู่เจรจา (PMC) เนื่องจากปัจจุบัน การประชุมภายใต้กรอบ PMC ไม่ได้รับความสนใจจากประเทศคู่เจรจา อาเซียนจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงรูปแบบและหัวข้อการหารือให้มีประสิทธิภาพและมีผลในทางรูปธรรม และพิจารณาหัวข้อที่อาจเป็น จุดเด่นสำหรับการประชุม PMC ในแต่ละครั้ง อย่างเช่นที่ไทยได้เสนอให้มีการพิจารณาเรื่อง Social Safety Nets และการรวมตัวของอาเซียนในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน สมัยที่ 33
- การเสริมสร้างความร่วมมือ/การเชื่อมโยงกับภูมิภาคอื่น ๆ เพิ่มเติมจากกรอบ APEC และ ASEM โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประเทศในเอเชียตะวันออกในกรอบ ASEAN+3, East Asia Cooperation และในเขตเศรษฐกิจอื่น ๆ เช่น ระหว่าง CER ของออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ และกลุ่มประเทศในละตินอเมริกา ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 8-9 พฤษภาคม 2543 ไทยได้จัดการประชุมว่าด้วยความ ร่วมมืออาเซียน-แอนเดียนในสหัสวรรษใหม่ (ASEAN-Andean Symposium) ครั้งที่ 1 เพื่อเป็นการ แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในเรื่องการขยายความสัมพันธ์ด้านการค้า การลงทุน และการแลกเปลี่ยนในด้านต่าง ๆ ระหว่างอาเซียนและกลุ่มประเทศ Andean ซึ่งเป็นความพยายามที่จะให้อาเซียนขยายบทบาท และความสัมพันธ์ไปสู่ภูมิภาคอื่น ๆ (ประชาคมแอนเดียนเป็นกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจใน ลาติน อเมริกา ประกอบด้วย โบลิเวีย โคลัมเบีย เอกวาดอร์ เปรู และเวเนซูเอลา)
*** กลุ่มงานนโยบาย กรมอาเซียน กรกฎาคม 2546 ที่มา http://www.baanjomyut.com/library_2/asean_community
|