Thursday, 21 November 2024, 20:33:54
ยินดีต้อนรับ, Guest
หน้าหลัก » 2012 » May » 20 » พหุปัญญา วิถีการเรียนรู้ที่แตกต่าง multiple intelligence
19:59:31
พหุปัญญา วิถีการเรียนรู้ที่แตกต่าง multiple intelligence
พหุปัญญา : วิถีการเรียนรู้ที่แตกต่าง

โดยศิลป์ชัย  เทศนา  ศึกษานิเทศก์ 7

กลุ่มงานส่งเสริมและพัฒนาสื่อ นวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการศึกษา 
กลุ่มนิเทศ ติดตามและประเมินผลทางการศึกษา สพท.อุทัยธานี
 

 เด็กแต่ละคนมีวิธีการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน เปรียบเหมือนสายรุ้งที่หลากสี บุคคลจึงมีหลากหลาย   รสนิยม มีความแตกต่างของบุคลิกภาพ ครู พ่อแม่และผู้ปกครองต้องสำเหนียกตระหนักและมองเห็นคุณค่าของความแตกต่างเพื่อการค้นหาให้พบว่า เด็กมีลักษณะการเรียนรู้หรือความสามารถที่จะเรียนรู้ในทางใด เพื่อจะได้ดำเนินกิจกรรมการพัฒนาเด็กให้เต็มตามศักยภาพและได้ใช้ความสามารถได้สูงสุด

          ดร. โฮเวิร์ด การ์ดเนอร์  (Howard Gardner) แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด  ประเทศสหรัฐอเมริกา  ผู้ก่อตั้งทฤษฎีพหุปัญญา (Theory of Multiple Intelligences) ให้คำจำกัดความของคำว่า "ปัญญา” ไว้ดังนี้

          "ปัญญา คือความสามารถที่จะค้นหาและแก้ปัญหาและสร้างผลผลิตที่มีคุณค่าเป็นที่ยอมรับในสังคม”          

ลักษณะสำคัญของทฤษฎีพหุปัญญา

1.มนุษย์มีความสามารถทางปัญญาแบ่งออกได้อย่างน้อย 8 ด้าน

2.จากการศึกษาเรื่องสมองปัญญามีลักษณะเฉพาะด้าน

3. คนทุกคนมีสติปัญญาทั้ง 8 ด้านที่อาจจะมากน้อยแตกต่างกันไป บางคนอาจจะสูงทุกด้าน

     บางคนอาจจะสูงเพียงด้าน หรือสองด้าน ส่วนด้านอื่น ๆ ปานกลาง

4.ทุกคนสามารถพัฒนาปัญญาแต่ละด้านให้สูงขึ้นถึงระดับใช้การได้ถ้ามีการฝึกฝนที่ดี มีการให้กำลังใจที่เหมาะสม ในสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้

5.ปัญญาด้านต่าง ๆ สามารถทำงานร่วมกันได้ เช่นในการดำรงชีวิตประจำวันเราอาจต้องใช้ปัญญาในด้านภาษาในการพูด อ่าน เขียน ปัญญาด้านคิดคำนวณ ในการคิดเงินทอง ปัญญาด้านมนุษย์ สัมพันธ์ในการพบปะเข้าสังคมทำให้ตนเองมีความสุขด้วยการใช้ปัญญาด้านการเข้าใจตนเอง

6. ปัญญาแต่ละด้านจะมีความสามารถในหลาย ๆ ทาง ยกตัวอย่างเช่นคนที่อ่านหนังสือไม่ออกก็ไม่ได้หมายความว่าไม่มีปัญญาทางภาษา แต่เขาอาจจะเป็นคนเล่าเรื่องที่เก่งหรือพูดได้น่าฟัง

ความสามารถทางปัญญาของมนุษย์ตามทฤษฎีพหุปัญญา แบ่งออกเป็น  8 ด้าน ได้แก่

1.ปัญญาด้านภาษา (Linguistic Intelligence)

2.ปัญญาด้านตรรกะและคณิตศาสตร์  (Logical – Mathmatical Intelligence)

3.ปัญญาด้านมิติสัมพันธ์ (Visual – Spatial Intelligence)

4.ปัญญาด้านร่างกายและการเคลื่อนไหว (Bodily – Kinesthetic Intelligence)

5. ปัญญาด้านดนตรี (Musical Intelligence)

6. ปัญญาด้านมนุษย์สัมพันธ์ (Interpersonal Intelligence)

7. ปัญญาด้านความเข้าใจตนเอง (Intrapersonal Intelligence)

8.ปัญญาด้านธรรมชาติวิทยา (Naturalist Intelligence)


บุคคลมีลักษณะการเรียนรู้ตามทฤษฎีพหุปัญญาในแต่ละด้านแตกต่างกันออกไป ต่อไปนี้เป็นการบรรยายลักษณะของบุคคลที่มีจุดเด่นหรือมีความสามารถทางปัญญาด้านต่าง ๆ ดังนี้

1. ปัญญาด้านภาษา (Linguistic Intelligence) 

-          มีนิสัยรักการอ่าน ติดหนังสือ ชอบเขียน ชอบพูด สามารถเล่าเรื่องต่าง ๆ ได้ดี

-          มักจะได้ยินเสียงของคำก้องอยู่ในหูก่อนที่จะได้อ่าน พูด หรือเขียน  

-          จำชื่อสถานที่ เรื่องราว รายละเอียดต่าง ๆ ได้ดี

-          เจ้าบทเจ้ากลอน มีอารมณ์ขัน ตลก ชอบเล่นปริศนา คำทาย

-          ชอบพูดเล่นคำ สำนวน คำผวน คำพ้อง

-          ชอบเรียนวิชาภาษาไทย ภาษาต่างประเทศ ประวัติศาสตร์ มากกว่าคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์

ข้อเสนอแนะในการจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาความสามารถ

-          จัดกิจกรรมให้ได้รับประสบการณ์ตรง เพื่อนำมาเขียนเรื่องราว

-          จัดกิจกรรมให้ได้พูด ได้อ่าน ได้ฟัง ได้เห็น ได้เขียนเรื่องราวที่สนใจ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้

-          ครูควรรับฟังความคิดเห็น คำถาม และตอบคำถามด้วยความเต็มใจ กระตือรือร้น

-          จัดเตรียมหนังสือ สื่อการเรียนการสอนเพื่อการค้นคว้าที่หลากหลาย เช่น เทปเสียง วิดีทัศน์ จัดเตรียมกระดาษเพื่อการเขียน อุปกรณ์การเขียนให้พร้อม

-          ยุทธศาสตร์ในการสอนคือ ให้อ่าน ให้เขียน ให้พูด และให้ฟังเรื่องราวต่าง ๆ ที่นักเรียนสนใจ อภิปรายแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้อื่น  

ผู้ที่มีความสามารถทางด้านนี้มีความเหมาะสมที่จะประกอบอาชีพเป็น นักพูด นักเล่านิทาน นักการเมือง กวี นักเขียน บรรณาธิการ นักหนังสือพิมพ์ ครูสอนภาษา เป็นต้น


2.       ปัญญาด้านตรรกะและคณิตศาสตร์  (Logical – Mathmatical Intelligence)

-          ชอบทดลองแก้ปัญหา สนุกที่ได้ทำงานกับตัวเลข หรือเกมคิดเลข การคิดเลขในใจ เป็นต้น

-          ชอบและมีทักษะในการใช้เหตุผล การซักถามปัญหาให้คิดเชิงเหตุผล

-          ชอบทำตามสั่ง ทำอะไรที่เป็นระบบระเบียบตามลำดับขั้นตอนที่ชัดเจน

-          สนใจข่าวคราวความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ และวิทยาการต่าง ๆ

-          ชอบค้นหาเหตุผลมาหักล้างหรือวิพากษ์วิจารณ์การกระทำของผู้อื่น

-          เชื่อถือเฉพาะแต่สิ่งที่อธิบายได้ มีเหตุผลเพียงพอ

-          ชอบเรียนวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์

ข้อเสนอแนะในการจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาความสามารถ

-          ให้มีโอกาสได้ทดลอง หรือทำอะไรด้วยตนเอง

-          ส่งเสริมให้ทำงานสร้างสรรค์ งานศิลปที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์

-          ให้เล่นเกมที่ฝึกทักษะคณิตศาสตร์ เช่น เกมไพ่ เกมตัวเลข ปริศนาตัวเลข ฯลฯ

-          ให้ช่วยทำงานบ้าน งานประดิษฐ์ ตกแต่ง

-          ฝึกการใช้เหตุผล การแก้ปัญหา การศึกษาด้วยโครงงานในเรื่องที่นักเรียนสนใจ

-          ฝึกฝนทักษะการใช้เครื่องคิดเลข เครื่องคำนวณ เครื่องคอมพิวเตอร์ ฯลฯ

-          ยุทธศาสตร์ในการสอนคือให้ฝึกคิดแบบมีวิจารณญาณ วิพากษ์ วิจารณ์ ฝึกกระบวนการสร้างความคิดรวบยอด การชั่ง ตวง วัด การคิดในใจ การคิดเลขเร็ว ฯลฯ

ผู้ที่มีความสามารถทางด้านนี้มีความเหมาะสมที่จะประกอบอาชีพเป็นนักบัญชี นักคณิตศาสตร์ นักตรรกศาสตร์ โปรแกรมเมอร์ นักวิทยาศาสตร์ ครู-อาจารย์ เป็นต้น


3.       ปัญญาด้านมิติสัมพันธ์ (Visual – Spatial Intelligence)

-          ชอบวาดเขียน มีความสามารถทางศิลป

-          ชอบฝันกลางวัน ชอบหลับตาคิดถึงภาพในความคิด จินตนาการ

-          ชอบวาดภาพ ขีดเขียนสิ่งต่าง ๆ ลงในกระดาษ สมุดจดงาน

-          ชอบอ่านแผนที่ แผนภูมิต่าง ๆ

-          ชอบบันทึกเรื่องราวไว้ในภาพถ่ายหรือภาพวาด

-          ชอบเล่นเกมต่อภาพ (Jigsaw Puzzles) เกมจับผิดภาพ หรือเกมที่เกี่ยวกับภาพ

-          ชอบเรียนวิชาศิลปศึกษา เรขาคณิต พีชคณิต

-          ชอบวาดภาพในลักษณะมุมมองที่แตกต่างออกไปจากธรรมดา

-          ชอบดูหนังสือที่มีภาพประกอบมากกว่าหนังสือที่มีแต่ข้อความ

ข้อเสนอแนะในการจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาความสามารถ

-          ให้ทำงานศิลป งานประดิษฐ์ เพื่อเปิดโอกาสให้คิดได้อย่างอิสระ

-          พาไปชมนิทรรศการศิลป พิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ

-          ฝึกให้ใช้กล้องถ่ายภาพ การวาดภาพ สเก็ตซ์ภาพ

-          จัดเตรียมอุปกรณ์การวาดภาพให้พร้อม จัดสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อการทำงานด้านศิลป

-          ฝึกให้เล่นเกมปริศนาอักษรไขว้ เกมตัวเลข เกมที่ต้องแก้ปัญหา

-          เรียนได้ดีหากได้ใช้จินตนาการ หรือความคิดที่อิสระ ชอบเรียนด้วยการได้เห็นภาพ การดู การรับรู้ทางตา

-          ฝึกให้ใช้หรือเขียนแผนที่ความคิด (Mind Mapping) การใช้จินตนาการ

-          ให้เล่นเกมเกี่ยวกับภาพ เกมตัวต่อเลโก้ เกมจับผิดภาพ ฯลฯ

-          ยุทธศาสตร์ในการสอนคือการให้ดู ให้วาด ให้ระบายสี ให้คิดจินตนาการ

ผู้ที่มีความสามารถทางด้านนี้มีความเหมาะสมที่จะประกอบอาชีพเป็นศิลปิน สถาปนิก มัณฑนากร นักประดิษฐ์ ฯลฯ


4.       ปัญญาด้านร่างกายและการเคลื่อนไหว (Bodily – Kinesthetic Intelligence)

-          ชอบการเคลื่อนไหว ไม่อยู่นิ่ง ชอบสัมผัสผู้อื่นเมื่อพูดคุยด้วย

-          เป็นนักกีฬา กระตือรือร้น ชอบเต้นรำ เล่นละคร หรือบทบาทสมมุติ

-          ชอบทำอะไรด้วยตนเองมากกว่าจะให้คนอื่นทำให้ตน

-          ขอบทำมือประกอบท่าทางขณะพูดคุย

-          ชอบพูดคุยเสียงดัง เอะอะตึงตัง ชอบเล่นหกคะเมนตีลังกากับเพื่อน

-          ชอบเล่นเครื่องเล่นที่โลดโผน หวาดเสียว เช่น ชิงช้าสวรรค์ ม้าหมุน รถไฟเหาะตีลังกา ฯลฯ

-          ชอบเรียนวิชาพลศึกษา งานประดิษฐ์ ชอบทำกิจกรรมกลางแจ้ง

-          ชอบลงมือกระทำจริงมากกว่าการอ่านคู่มือแนะนำหรือดูวิดีโอแนะนำ

-          ชอบคิดหรือใช้ความคิดขณะออกกำลังกาย เดิน วิ่ง

ข้อเสนอแนะในการจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาความสามารถ

-          เรียนรู้ได้ด้วยการสัมผัส จับต้อง การเคลื่อนไหวร่างกาย และการปฏิบัติจริง

-          สนับสนุนให้เล่นกีฬา การแสดง เต้นรำ การเคลื่อนไหวร่างกาย

-          จัดกิจกรรมให้นักเรียนได้รับประสบการณ์ตรง หรือได้ปฏิบัติจริง

-          ให้เล่นเกม เดิน วิ่ง หรือทำกิจกรรมที่ต้องใช้การเคลื่อนไหวร่างกาย

-          ให้เล่นหรือทำกิจกรรมกลางแจ้ง กีฬา การเคลื่อนไหวประกอบจังหวะ

-          ยุทธศาสตร์ในการสอนคือการให้นักเรียนปฏิบัติจริง ลงมือทำจริง ได้สัมผัส เคลื่อนไหว ใช้ประสาทสัมผัสในการเรียนรู้ และการเรียนผ่านการแสดงบทบาทสมมุติ แสดงละคร

ผู้ที่มีความสามารถทางด้านนี้มีความเหมาะสมที่จะประกอบอาชีพเป็นนักแสดง นักกีฬา นาฏกร นักฟ้อนรำ นักประดิษฐ์ นักปั้น ช่างซ่อมรถยนต์ ศัลยแพทย์ เป็นต้น


5.       ปัญญาด้านดนตรี (Musical Intelligence)

-          ชอบร้องรำทำเพลง เล่นดนตรี

-          ชอบเสียงต่าง ๆ ชอบธรรมชาติ

-          แยกแยะเสียงต่าง ๆ ได้ดี รู้จักท่วงทำนอง เรียนรู้จังหวะดนตรีได้ดี

-          ชอบผิวปาก ฮัมเพลงเบา ๆ ขณะทำงาน

-          มักจะเคาะโต๊ะ หรือขยับเท้าตามจังหวะเมื่อฟังเพลง

-          สามารถจดจำเสียงที่เคยได้ยินแม้เพียงครั้งเดียวหรือสองครั้งได้

-          เล่นเครื่องดนตรีได้อย่างน้อย 1 ชิ้น

-          มักจะได้ยินเสียงเพลงจากภาพยนตร์โฆษณาทางโทรทัศน์หรือวิทยุก้องอยู่ในหูตลอดเวลา

ข้อเสนอแนะในการจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาความสามารถ

-          ให้เล่นเครื่องดนตรี ร้องเพลง ฟังเพลงสม่ำเสมอ

-          หาโอกาสดูการแสดงดนตรี หรือฟังดนตรีเป็นประจำ

-          บันทึกเสียงดนตรีที่นักเรียนแสดงไว้ฟังเพื่อปรับปรุงหรือชื่นชมผลงาน

-          ให้ร้องรำทำเพลงร่วมกับเพื่อนหรือคุณครูเสมอ ๆ

-          ยุทธศาสตร์ในการสอนได้แก่ปฏิบัติการร้องเพลง การเคาะจังหวะ การฟังเพลง การเล่นดนตรี การวิเคราะห์ดนตรี วิจารณ์ดนตรี เป็นต้น

ผู้ที่มีความสามารถทางด้านนี้มีความเหมาะสมที่จะประกอบอาชีพเป็นนักดนตรี นักแต่งเพลง

นักวิจารณ์ดนตรี เป็นต้น


6.       ปัญญาด้านมนุษย์สัมพันธ์ (Interpersonal Intelligence)

-          ชอบมีเพื่อน ชอบพบปะผู้คนร่วมสังสรรค์กับผู้อื่น

-          ชอบเป็นผู้นำ หรือมีส่วนร่วมในกลุ่ม

-          ชอบแสดงออกให้ผู้อื่นทำตาม ช่วยเหลือผู้อื่น ทำงานหรือประสานงานกับผู้อื่นได้ดี

-          ชอบพูดชักจูงให้ผู้อื่นทำมากกว่าจะลงมือทำด้วยตนเอง

-          เข้าใจผู้อื่นได้ดี สามารถอ่านกิริยาท่าทางของผู้อื่นได้

-          มักจะมีเพื่อนสนิทหลายคน

-          ชอบสังคม อยู่ร่วมกับผู้อื่นมากกว่าจะอยู่คนเดียวที่บ้านในวันหยุด

ข้อเสนอแนะในการจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาความสามารถ

-          จัดกิจกรรมให้นักเรียนได้เข้ากลุ่ม ทำงานร่วมกัน

-          ส่งเสริมให้อภิปราย เรียนรู้ร่วมกัน แก้ปัญหาร่วมกัน

-          สามารถเรียนได้ดีหากให้โอกาสในการทำงานร่วมกับผู้อื่น

-          ยุทธศาสตร์ในการสอนได้แก่การให้ทำงานร่วมกัน การปฏิสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มเพื่อน การเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม การจำลองสถานการณ์ บทบาทสมมุติ การเรียนรู้สู่ชุมชน เป็นต้น

ผู้ที่มีความสามารถทางด้านนี้มีความเหมาะสมที่จะประกอบอาชีพเป็นนักบริหาร ผู้จัดการ นักธุรกิจ นักการตลาด นักประชาสัมพันธ์ ครู - อาจารย์ เป็นต้น


7.       ปัญญาด้านความเข้าใจตนเอง (Intrapersonal Intelligence)

-          ชอบอยู่ตามลำพังคนเดียวเงียบ ๆ คิดถึงเรื่องราวเกี่ยวกับตนเอง

-          ติดตามสิ่งที่ตนเองสนใจเป็นพิเศษ มีแรงจูงใจสูง

-          มีอิสระในความคิด รู้ตัวว่าทำอะไร และพัฒนาความรู้สึกนึกคิดอยู่เสมอ

-          ชอบใช้เวลาว่างในวันหยุดอยู่คนเดียวมากกว่าที่จะออกไปในที่มีคนมาก ๆ

-          เข้าใจตนเอง หมกมุ่นอยู่กับความรู้สึก ความคิดและการแสดงออกของตัวเอง

-          ชอบทำอะไรด้วยตนเองมากกว่าที่จะคอยให้คนอื่นช่วยเหลือ

ข้อเสนอแนะในการจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาความสามารถ

-          เปิดโอกาสให้ทำงานตามลำพัง ทำงานคนเดียว อิสระ แยกตัวจากกลุ่มบ้าง

-          สอนให้เห็นคุณค่าของตัวเอง นับถือตัวเอง (self esteem)

-          สนับสนุนให้ทำงานเขียน บันทึกประจำวัน หรือทำหนังสือ จุลสาร

-          สนับสนุนให้ทำโครงงาน การศึกษารายบุคคล หรือทำรายงานเดี่ยว

-          ให้เรียนตามความถนัด ความสนใจ ตามจังหวะการเรียนเฉพาะตน

-          ให้อยู่กับกลุ่ม ทำงานร่วมกับผู้อื่นบ้าง

-          ยุทธศาสตร์การสอนควรเน้นที่การเปิดโอกาสให้เลือกศึกษาในสิ่งที่สนใจเป็นพิเศษ การวางแผนชีวิต การทำงานร่วมกับผู้อื่น การศึกษารายบุคคล (Individual Study)

ผู้ที่มีความสามารถทางด้านนี้มีความเหมาะสมที่จะประกอบอาชีพอิสระ เป็นเจ้าของกิจการ เป็นนายจ้างของตัวเอง นักคิด นักเขียน นักบวช นักปรัชญา นักจิตวิทยา  ครู – อาจารย์ เป็นต้น


8.       ปัญญาด้านธรรมชาติวิทยา (Naturalist Intelligence)

-          ชอบสัตว์ ชอบเลี้ยงสัตว์

-          สนใจสิ่งแวดล้อม ธรรมชาติรอบตัว

-    สนใจความเป็นไปในสังคมรอบตัว ชอบศึกษาเรื่องราวของมนุษย์ การดำรงชีวิต จิตวิทยา

-          คิดถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและการพัฒนาอย่างยั่งยืนเพื่อสิ่งแวดล้อม

-          เข้าใจธรรมชาติของพืชและสัตว์ได้เป็นอย่างดี รู้จักชื่อต้นไม้ ดอกไม้หลายชนิด

-          ไวต่อความรู้สึก การเปลี่ยนแปลงของดิน ฟ้า อากาศ

-          สามารถปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมได้ดี

-          มีความรู้เรื่องดวงดาว จักรวาล สนใจวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต

ข้อเสนอแนะในการจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาความสามารถ

-          ฝึกปฏิบัติงานด้านเกษตรกรรมเกี่ยวกับการปลูกพืชหรือเลี้ยงสัตว์

-          ศึกษาสังเกต บันทึกความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ ลม ฟ้า อากาศ

-          จัดกิจกรรมเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมศึกษา ค่ายสิ่งแวดล้อม ฯลฯ

ผู้ที่มีความสามารถทางด้านนี้มีความเหมาะสมที่จะประกอบอาชีพนักวิทยาศาสตร์ นักสำรวจ นักอนุรักษ์ธรรมชาติ นักสิ่งแวดล้อม ทำฟาร์มเลี้ยงสัตว์ เกษตรกร เป็นต้น

          การพัฒนาปัญญาหลายด้านเพื่อการเรียนรู้ มีความสำคัญสำหรับนักเรียน หากมีความเชื่อในเรื่องของ ทฤษฎีพหุปัญญา ศักยภาพของมนุษย์ และการเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางแล้ว ครูผู้สอนควรตระหนักถึงการพัฒนาคนของชาติให้มีพัฒนาการเต็มตามศักยภาพ ทั้งทางร่างกาย สติปัญญา จิตใจ และสังคม เพื่อที่จะได้เป็นพื้นฐานในการสร้างครอบครัว ชุมชน สังคมและประเทศชาติต่อไป

          ครูผู้สอนสามารถสำรวจความสามารถทางสติปัญญาหรืออาจจะเรียกว่าความเก่งตามทฤษฎีพหุปัญญาของนักเรียนเพื่อสนับสนุนข้อมูลการรู้จักนักเรียนเป็นรายบุคคลด้านอื่น ๆ ในระเบียนสะสมของคุณครู และเพื่อค้นหาจุดเด่น จุดที่ควรปรับปรุงในตัวของนักเรียนและนำข้อมูลไปพัฒนาการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนเพื่อให้นักเรียนได้พัฒนาไปได้เต็มตามศักยภาพอันพึงมีของแต่ละคน

*************************************

เอกสารอ้างอิง

Accelerated Learning Network. 2001. Test yourself- How are you smart?.

URL: http://www.accelerated-learning.net/learning_test.html.

Multiple Intelligences, 2000. URL: http://www.springfield.k12.il.us/schools/ Graham/MI/ index.html.

 http://www.krujongrak.com/mi/mi_selftest1.htm

หมวด: ทฤษฏี หลักการ วิธีการ แนวคิด | Views: 4283 | เพิ่มโดย: jatuporn | Tags: พหุปัญญา วิถีการเรียนรู้ที่แตกต่าง | Rating: 0.0/0
คอมเม้นทั้งหมด: 0
ComForm">
avatar